“เผ่าภูมิ” รวมพล SME D Bank ทั้งองค์กรทั่วประเทศ 2,000 คน ขันน็อต 7 ข้อ ผนึกกำลัง บสย. EXIM เข้าอุ้ม SME ไทย 

วันที่ 16 ก.พ.68 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานนโยบายการสนับสนุน SME ไทยในปี 2568 ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ให้แก่ผู้บริหารและพนักงานทั้งองค์กรกว่า 2,000 คน ทั่วประเทศ โดยได้กำหนดแนวทาง 7 ข้อ ดังนี้

1.“รักษาพันธกิจที่เป็นแก่นหลักของธนาคาร” นั่นคือการเข้าเติมเต็มภูมิทัศน์ทางการเงินของประเทศ เข้าทำภารกิจที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ นั่นคือการโอบอุ้ม SME ที่มีความเสี่ยงสูงให้เข้าถึงสินเชื่อ

2.“ประยุกต์ใช้ศาสตร์แห่งสมดุล” ระหว่างเสถียรภาพกับการเข้าช่วยเหลือ SME โดยการเข้าช่วย SME ธนาคารต้องบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าให้เกิดสภาวะเตี้ยอุ่มค่อม ต้องแบ่งสัดส่วนพอร์ตที่เหมาะสมระหว่างพอร์ตที่เอาไว้ดำรงเสถียรภาพ และพอร์ตที่ต้องเสี่ยงเพื่อเข้าอุ้ม SME

3.“ปล่อยสินเชื่อให้ครบทั้งห่วงโซ่การผลิต” โดยต้องวิเคราะห์ Supply Chain ของธุรกิจนั้นๆ และใช้สินเชื่อเข้าส่งเสริมให้ครบทั้งสายการผลิต ไม่ให้เกิดขอขวดของสินเชื่อในส่วนใดส่วนหนึ่งของธุรกิจ

4.“พุ่งเข้าหา SME” พึงระลึกว่าลูกค้าที่เข้ามาหาธนาคารเป็นลูกค้าที่แข็งแรง แต่ยังมี SME อีกจำนวนมากที่แทบไม่รู้จักธนาคารเรา ไม่รู้การทำบัญชีเพื่อขอสินเชื่อ ไม่รู้เรื่องหลักประกัน ไม่รู้กระบวนการ ในฐานะของสถาบันการเงินรัฐ ต้องพุ่งเข้าหาประชาชน พุ่งเข้าหา SME เข้าช่วยเหลือ เข้าให้ความรู้ เอาสินเชื่อให้ถึงมือประชาชน

5.“ผนึกกำลัง บสย. EXIM” โดยให้ทำงานร่วมกันระหว่างธนาคารกับกลไกค้ำประกันสินเชื่อ พึงระลึกว่า SME ปกติจะเสี่ยงสูง ธนาคารโดยลำพังไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ ให้จูงมือ บสย. ไปหา SME รวมถึง EXIM Bank ต้องไม่เกิดช่องว่าง การทำงานร่วมกันจะสามารถเชื่อมรอยต่อส่งเสริม SME ให้โตขึ้นและกระจายตลาดไปยังต่างประเทศได้

6.“ใช้ข้อมูลทางเลือก” เราไม่สามารถวัดความเสี่ยงด้านเครดิตของ SME จากข้อมูลหลักได้หมด เพราะคนเหล่านี้บางทีเขาไม่มี statement ไม่มีระบบบัญชีที่ดี ไม่มีหลักประกัน การใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น ประวัติการชำระหนี้สาธารณูปโภค การจ่ายภาษี ข้อมูลการใช้จ่าย-การขายออนไลน์ เป็นต้น เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่บ่งชี้ระดับความเสี่ยง SME ได้

7.“มุ่งแก้หนี้ Special Mention” ลูกหนี้กลุ่มนี้หากไม่เข้าช่วย จะไหลเป็นหนี้เสีย หากเข้าช่วยทัน ปรับโครงสร้างหนี้ทัน ดูแลทัน เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพกลายเป็นหนี้ดีได้ กลุ่มนี้จึงสำคัญมาก พนักงาน SME D Bank ต้องทุ่มแรงกาย แรงใจ ใส่ใจหนี้ก้อนนี้เป็นพิเศษ