จากกรณีที่ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก "ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง รามสูต" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเวลา 2 ปี กระทำผิด มาตรา 157 ทำให้ "ทรูไอดี" หรือ "TrueID" ให้ได้รับความเสียหาย
ล่าสุด อเพจเฟซบุ๊ก พรรคประชาชน - People's Party โพสต์ข้อความระบุว่า...
[ ประเทศไทยต้องไม่ปกป้องกลุ่มธุรกิจเหนือผู้บริโภคและประชาชน ]
จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ‘พิรงรอง รามสูต’ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ฟ้อง ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ กสทช. ส่งหนังสือเตือนบริษัททรูฯ ว่าแอปพลิเคชัน TrueID แทรกโฆษณาระหว่างเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ดิจิทัล ขัดต่อหลักเกณฑ์ Must Carry ซึ่งกำหนดให้ต้องเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลโดยไม่มีเนื้อหาอื่นแทรก
การฟ้องคดีในลักษณะเช่นนี้ย่อมถูกตั้งคำถามว่าเข้าข่ายการฟ้องแบบปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ที่มุ่งสร้างความหวาดกลัวไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพียงแต่ไม่ได้เป็นการฟ้องหมิ่นประมาทแบบกรณี SLAPP ทั่วไป แต่เป็นการใช้กฎหมายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มาใช้ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ
พัฒนาการของ SLAPP ในลักษณะเช่นนี้น่ากังวลมากกว่าเดิมเสียอีก เนื่องจากเป็นการฟ้องปิดปากต่อบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลตามกติกาเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกเพียงน้อยนิดของไทยที่มีอยู่เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการเอารัดเอาเปรียบของเอกชนรายใหญ่
เมื่อคดีมีการพิจารณาออกมาในลักษณะเช่นนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าต่อไปในอนาคต กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจะยังสามารถทำงานต่อไปได้อย่างไร ใครจะกล้ายืนหยัดพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประชาชน
การมีกลไกที่จะคุ้มครองทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รวมถึงคุ้มครองบุคคลทั่วไปจากการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการมีกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) จึงเป็นหนึ่งในวาระที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยในวันนี้ น่าเสียดายที่กฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปากที่เสนอโดย ป.ป.ช. ยังพิจารณากันอยู่ในชั้นกรรมาธิการ
ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย Anti-SLAPP ควรแล้วหรือที่เราจะปล่อยให้หน่วยงาน “กำกับดูแล” ถูกลดทอนบทบาทเหลือเพียงการ “ดูแล” ทุนใหญ่เท่านั้น