สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
สะท้านสะเทือนไปทั่วแวดวงวิชาการด้านสื่อสารมวลชน หลังศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา กรณีออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเกี่ยวกับการมีโฆษณาแทรกในสัญญาณที่นำไปออกอากาศบนแพลตฟอร์ม TrueID โดยชี้ว่าเป็นการผิดกฎ “Must Carry” และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม TrueID เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งและทำให้บริษัทเสียหาย จึงยื่นฟ้องต่อศาล …*…
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแถลงการณ์จากสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยให้กำลังใจและสนับสนุนศ.ดร.พิรงรอง โดยชี้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนผู้บริโภคสื่อ ขณะทีสถาบันการศึกษาบางแห่งได้มีการจัดเสวนาในเรื่องเดียวกันนี้ จนนำไปสู่กระแสเรียกร้องในโลกโซเชียลให้ภาคส่วนต่างๆ ออกมายืนเคียงข้าง ศ.ดร.พิรงรอง …*…
กระนั้น ในอีกมุมหนึ่ง แม้ไม่มีใครสงสัยในเจตนาของศ.ดร.พิรงรองจนนำมาสู่คดีที่เกิดขึ้น แต่ก็ได้ให้ข้อคิดในเชิงกฎหมายที่ควรนำมาใคร่ครวญด้วยเช่นกัน…*…
“กรณีกรรมการ กสทช. ท่านหนึ่ง แพ้คดีที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้อง เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาทุจริต และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ขณะนี้กำลังมีการรณรงค์กันว่า การถูกคำพิพากษาจำคุกจะเกิดข้อจำกัดต่อการปฏิบัติงานคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน และเข้าใจผิดต่อสถาบันศาล โดยผลที่แท้จริงคือ เนื้อตัวของปัญหาก็ไม่ได้แก้ กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา อาจจะถูกบัณฑิตติเตียนได้ว่า แพ้แล้วพาล กสทช. มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเพื่อประชาชนด้วย การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ และการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลพิพากษาจำคุก กรรมการ กสทช. ท่านหนึ่งนั้น ควรต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าการขับเคลื่อนกระแสมวลชนภายใต้ธง SAVE … นอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังสร้างปัญหาเพิ่มเติมอีกด้วย กรณีเรื่องนี้ กสทช. ควรให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบและทบทวนกระบวนการทำงานในการแก้ต่างคดีอาญาว่าครบถ้วนสมบูรณ์ตามควรแก่กรณีที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และศาลฟังข้อเท็จจริงได้ ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย การที่ศาลพิพากษาจำคุกก็เพราะคดีนั้นศาลรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ตรงนี้จึงเป็นใจกลางของปัญหาที่ไม่ควรถูกบิดเบือนเบี่ยงเบนไปอย่างอื่น ก็ขอเตือนสติกันไว้ เพื่อไม่ให้ความเสียหายลุกลามไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาบางแห่งก็ไม่พึงประพฤติตนเป็นกระต่ายตื่นตูม ออกอาการฮึดฮัด โดยที่ไม่ได้ทราบความจริงของคดีนี้ว่าเป็นอย่างไร”ความเห็นจากนายไพศาล พืชมงคล กูรูกฎหมายระดับแถวหน้า …*…
ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อธิบายถึงที่มาที่ไปของคดีนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่าแพลทฟอ์มที่เรียกว่า OTT (Over The Top) คือกล่องสัญญาณรวมเอารายการที่ทีวีดิจิตอล หรือเคเบิ้ลทีวีถ่ายทอดออกมา มารวมไว้เป็นบริการให้ผู้ใช้เปิดเข้าถึงได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่จำต้องเฝ้ารอดูหน้าจอตามเวลาที่ทีวีถ่ายทอดอีกต่อไป OTT แบบนี้มีมากมาย มีทั้งที่ขายสมาชิกภาพ เช่น Netflix หรือเข้าถึงได้โดยเสรีเช่น TrueID โดยกิจการแบบ OTT นี้อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นถนนขนส่งข้อมูล ไม่ได้อาศัยคลื่นความถี่ที่กฎหมายไทยถือเป็นทรัพยากรของชาติ กฎหมาย กสทช.ปัจจุบันจึงยังไม่มีระบบใบอนุญาตมาควบคุมเหมือนทีวี …*…
พร้อมกันนี้นายแก้วสรรตั้งข้อสังเกตไว้ให้ชวนคิดต่อว่า ใครเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ ศ.ดร.พิรงรอง พามาตายกลางถนนอย่างนี้ได้อย่างไร คดีนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าคุณจะ ฝังใจคิดทำเพื่อมวลมหาผู้บริโภค จนเป็นความสุจริตฝังแน่นอยู่ในใจอย่างไรก็ตาม แต่ตำแหน่ง กสทช.ที่คุณเข้ามานั่งนั้น มันมีกรอบกฎหมายรอครอบหัวคุณอยู่เสมอว่า ตัวคุณนั้นไม่มีอำนาจในตัวเอง เรืองแสงด้วยตัวเองไม่ได้ อย่าทำอะไรที่เกินกฎหมายและต้องเที่ยงตรงเสมอภาคทุกครั้ง …*…
“ถ้ากฎหมายถูกเลือกใช้ได้ตามอำเภอใจ มันก็ไม่ใช่กฎหมายแล้ว ประเทศไทยเรานี้ มีปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคภายใต้กฎหมายแบบนี้มากจริงๆ นะครับ คุณดูสิ... ขนาดไม่ยอมติดคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ก็ยังทำได้เลยเห็นไหม แล้วอย่างนี้บ้านเมืองเราจะไปรอดได้อย่างไร”นายแก้วสรรระบุ …*…
อย่างไรก็ตาม คดีศ.ดร.พิรงรอง ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ไม่อาจสรุปสุดท้ายได้ในเวลานี้ว่าจะจบลงเช่นใด ทว่า ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้ว่า “ไม่ว่าการกระทำจะมาจากเจตนาดีเพียงใด ก็ต้องไม่ล้ำเส้นกฎหมาย” …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (13/2/68)