Copayment นับเป็นประเด็นถกเถียงกันมากอย่างยังไม่จบในวงการประกันชีวิต ร้อนถึงแม้กระทั่งเวทีใหญ่อย่างกรรมาธิการวุฒิสภาฯให้ความสนใจ ต้องเรียกมาชี้แจงทั้งสำนักงานคปภ.และกูรูวงการกันชีวิตที่ถือว่าอยู่หน้างานในการเป็นคนกลางและสัมผัสดูแลลูกค้าทำประกันชีวิตโดยตรงอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเกิดเคลม(สินไหม)ขึ้นอย่างนายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) 

ล่าสุดนายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้โพสต์ถึงประเด็นไปออกรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมาว่า

แนวคิดใหม่เรื่อง“เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข”
สั่นคลอนปรัชญาของการประกันชีวิต 

ตอนนี้ต้องบอกว่า ทุกคนเห็นด้วยในหลักการว่า จะต้องนำเรื่อง copayment มาใช้ ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของการประกันสุขภาพ เพื่อไม่ให้อัตราการเบิกสินไหมพุ่งพรวดเร็วเกินไป จนกระทั่งไปเร่งให้บริษัทประกันชีวิตต้องขึ้นอัตราเบี้ยประกันทั้งระบบ

แต่แนวคิดในการนำเรื่อง copayment มาบังคับใช้นั้น ยังมีหลักการที่แตกต่างกัน 2 กระแสหลัก

หลักการดั้งเดิมเชื่อว่า ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยให้ผู้ที่แข็งแรงส่วนใหญ่ต้องร่วมกันช่วยเหลือคนส่วนน้อยที่อ่อนแอ แนวทางนี้จึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาล อาจจะเป็น 10% หรือ 20% โดยบริษัทประกันภัยจะลดเบี้ยประกันภัยให้เพื่อเป็นการจูงใจ

ถือเป็นการร่วมมือกันรับประกันภัย (Coinsurance) ผู้เอาประกันภัยรับผิดชอบไปส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อย ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ บริษัทประกันภัยรับผิดชอบไป พอลูกค้าต้องร่วมจ่าย เขาจะมีการไตร่ตรองก่อนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้ค่าสินไหมรวมชะลอตัวลง

แต่ตอนนี้กลับมีแนวคิดใหม่ที่บอกว่า เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนที่เบิกสินไหมบ่อยเกินไป มากเกินไป จะต้องเสียสละ เพื่อทำให้ยอดสินไหมรวมลดลงมา จะได้ไม่เป็นภาระให้บริษัทไปเพิ่มเบี้ยประกัน ที่อาจจะกระทบกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เบิกสินไหม 

ผมคิดว่าเรื่องนี้สั่นคลอนปรัชญาของการประกันชีวิต ถึงขั้นต้องมาถกเถียงกันใหม่เลยว่า หลักการหรือปรัชญาของการประกันภัย/ประกันชีวิตคืออะไร ใครควรเป็นผู้เสียสละ 

สำหรับคนส่วนน้อยที่เรียกร้องสินไหมโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์นั้น อันนี้ผมไม่สงสัย แต่สำหรับคนส่วนน้อยที่อ่อนแอโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ต้องเบิกค่าสินไหมในช่วง 3-4 ปีสุดท้ายของชีวิตนั้น ผมมีคำถามคำโตบนหัวของผม 

ผมคิดว่าหลักการของ copayment ต้องเป็นการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างลูกค้ากับบริษัท ไม่ใช่การลงโทษลูกค้าที่เรียกร้องสินไหมเยอะเกินไป

ผมทราบดีว่าทั้งสองฝ่ายที่เสนอแนวคิดเรื่องนี้ออกมา ต่างมีความปรารถนาดีกับบ้านเมือง อยากให้ระบบประกันภัยเดินหน้าได้ต่อไป โดยบริษัทก็อยู่ได้ ลูกค้าก็ไม่กระทบกระเทือน ทุกคนเจตนาที่ดี เพียงแต่ว่าแนวคิดไหนจะได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน

สิ่งที่ผมกังวลก็คือ หากเราใช้วิธีการให้ลูกค้าคนที่เรียกร้องสิทธิ์เยอะเป็นผู้เสียสละ  ต่อไปใครเรียกร้องมาก ก็จะถูกลงโทษให้เบิกได้ในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยลง 

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในอนาคต จะไม่มีการลงโทษลูกค้า ด้วยการลดวงเงินคุ้มครองของเขาอีก มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้บริษัทประกันชีวิตใช้หลักการนี้อีก ในอนาคตหรือไม่

จะช้าหรือเร็ว ในอนาคต เราต้องใช้ระบบที่ให้ลูกค้าทุกคนร่วมจ่าย (copayment) ในลักษณะ Coinsurance หรือร่วมกันรับผิดชอบ เหมือนกับที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าสหรัฐ สิงคโปร์ มาเลเซียหรือฮ่องกง ใช้อยู่

เพียงแต่ ผมยังไม่เห็นว่ามีประเทศใด ที่ใช้แนวทางลดวงเงินการคุ้มครองลง ถ้าลูกค้าเรียกร้องสินไหมมากเกินไป หรือที่ผมขอเรียกว่า copayment แบบไทยๆนั่นเอง

หมายเหตุ : ข้างบนนี้ คือแนวคิดที่ผมไปแสดงที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมาครับ