ในขณะที่ประเด็น Copayment ดูเหมือนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเป็นประเด็น ทอลค์ออฟเดอะทาวน์ไปทั่วเวลานี้ ในแง่มุมของความเคลื่อนไหวโรงพยาบาลก็นับว่าน่าสนใจทีเดียว และนับเป็นประเด็นที่อดจะแกะรอยหยิบยกมาพูดไม่ได้ว่าในต่างประเทศเขารับมือกันอย่างไร
โดยล่าสุดวันที่ 19 ม.ค. 2568 - นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า
รพ.แก้เกม Copay
ช่วยลูกค้าประกัน ดันยอดตัวเอง
ข่าวบริษัทประกันภัยเตรียมกำหนดเงื่อนไขใหม่ว่า หากลูกค้าเรียกร้องสินไหมถี่และมียอดสินไหมสูงเกินไป จะถูกบังคับให้ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (copayment)
แน่นอนว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบต่อยอดขายของโรงพยาบาล เพราะคนจะยับยั้งชั่งใจในการไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น
เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก ในยุโรปและอเมริกามีกรมธรรม์แบบร่วมจ่ายหรือ copayment มาก่อนนานแล้ว ทั้งในรูปแบบกรมธรรม์ประกันสุขภาพ และในรูปสวัสดิการฟรีของรัฐ
มีข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศได้วางหมากแก้เกม โดยช่วยเหลือให้ลูกค้าประกันไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือจ่ายเงินน้อยที่สุด เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการของโรงพยาบาลเหมือนเดิม
กลยุทธ์ที่โรงพยาบาลใช้ในการช่วยเหลือลูกค้า copayment มีดังนี้
1. วางบิลแต่ไม่เก็บเงิน
เมื่อรักษาลูกค้าเสร็จแล้ว เงินก้อนใหญ่เรียกเก็บจากบริษัทประกันภัย ส่วนเงินที่ลูกค้าต้องร่วมจ่ายนั้น โรงพยาบาลมีการวางบิล แต่มีการส่งสัญญาณว่าไม่ต้องจ่าย เพราะเงินที่เรียกเก็บจากบริษัทประกันภัยนั้น คือค่ารักษาทั้งหมดที่คิดเผื่อไว้แล้ว ตัวเลขที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยนั้นเป็นตัวเลขหลอก
2. ยกหนี้ให้
กรณีนี้เหมือนกับกรณีแรก มีการวางบิลแจ้งสภาพหนี้ให้กับลูกค้าชัดเจน แต่สุดท้าย ก็ยกหนี้ให้กับผู้ป่วย ไม่ได้มีการเรียกเก็บจริง โดยให้ลูกค้ากรอกแบบฟอร์มว่ามีความยากลำบากทางการเงิน ทั้งหมดเป็นแค่ละครฉากหนึ่งเท่านั้น
3. มีส่วนลดในผลิตภัณฑ์ยาและการบริการ
ค่ารักษาพยาบาลยอดใหญ่ 70% เก็บกับบริษัทประกันภัย ส่วนที่ลูกค้าต้องร่วมจ่าย 30% นั้น ในที่สุดโรงพยาบาลก็ทำเป็นส่วนลดให้ ไม่ต้องจ่ายสักบาทเดียวและเลือกให้ส่วนลดสำหรับลูกค้าที่อยู่ในเงื่อนไขของ copayment เท่านั้น
4. บริษัทยาเสนอส่วนลดให้
บริษัทผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ออกบัตรส่วนลดให้ไว้ใช้เวลาไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ของโรงพยาบาล บัตรนี้ให้ส่วนลดเยอะมากสำหรับค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนลูกค้าจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
5. องค์การกุศลรับจ่ายเงินส่วนของ copay
สำหรับลูกค้าที่ต้องร่วมจ่าย(copay ) โรงพยาบาลได้ประกาศแจ้งว่าจะมีองค์กรการกุศล หรือบุคคลที่สามที่ใจบุญ มาช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับลูกค้าแทน โดยที่ลูกค้าไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเลย
ดูเหมือนเรื่องนี้ภาครัฐจะรู้ทัน เพราะในต่างประเทศ สวัสดิการของรัฐ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายเงินทุกครั้ง เพื่อประชาชนจะได้ไม่ใช้บริการพร่ำเพรื่อ เช่น จ่าย 20 เหรียญ สำหรับใช้บริการแบบรอคิวนาน และ 100 เหรียญสำหรับการใช้บริการช่องทางพิเศษ ที่ไม่ต้องรอคิว
หากมีโรงพยาบาลใดใช้เล่ห์กล โดยบวกเพิ่มค่ารักษาในส่วนที่ลูกค้าต้องร่วมจ่าย แล้วไปเก็บกับรัฐบาลแทน ถือว่าหลอกลวงรัฐบาล การกระทำในรูปแบบข้างต้นนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย
ผมไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ แต่คงมีโรงพยาบาลบางแห่งใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้าจ่ายน้อยลง แล้วไปบวกเพิ่มกับบริษัทประกันภัย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกินกว่าจินตนาการ
ในอนาคต เราอาจจะพบเห็นโฆษณาของโรงพยาบาลที่บอกว่า ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเลย หรือมีส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าประกันภัย พึงสังเกตไว้ก่อนว่านั่นคือหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะมาแก้เกม copayment
บริษัทประกันภัยคงต้องวางแผนสำรองล่วงหน้า ที่จะแก้เกมเรื่องเหล่านี้ มิฉะนั้นแล้ว ลูกค้าที่ซื่อสัตย์ เรียกร้องสินไหมโดยสุจริตใจ ก็ต้องรับภาระไป แต่โรงพยาบาลกับลูกค้าที่ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยม กลับไม่ได้รับผลกระทบ
การเป็นคนดีในสังคม ทำไมต้องถูกลงโทษร่ำไปนะ