วันที่ 18ม.ค. 2568 นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า
ฉากทัศน์หลังบริษัทประกันภัย
บังคับใช้การร่วมจ่าย (copayment)
การประกาศเงื่อนไขที่จะให้ลูกค้าใหม่ที่ซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ต้องระวังไม่ให้การเรียกร้องสินไหมมากกว่าสามครั้งและมีค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าเกณฑ์ที่บริษัทประกันภัยกำหนดนั้น
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่จะมาแก้ไขเรื่องอัตราค่าสินไหมที่เกินกว่าธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิตจะรับได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เงื่อนไขใหม่นี้จะไปกระทบลูกค้าบางราย ที่มีการเรียกร้องสินไหมโดยบริสุทธ์ใจและมีความจำเป็น ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
ผมขอยกฉากทัศน์(scenario) ที่อาจจะเกิดขึ้น จากการบังคับใช้เงื่อนไขใหม่นี้ในกรมธรรม์
1. ฉากทัศน์ที่ 1
ลูกค้าเป็นคนมีฐานะ ซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย วงเงิน 10 ล้านบาท จ่ายเบี้ยประกันภัยปีละ 100,000 บาท ต่อมาเกิดอาการวูบหมดสติ ต้องส่งเข้ารักษา จึงเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ดีที่สุด พักรักษาในห้องไอซียู ตรวจทั้งคลื่นสมองและคลื่นหัวใจ ไม่พบสิ่งผิดปกติ อาการนี้เกิดขึ้นทุกสองเดือน ทุกครั้งก็ตรวจโดยละเอียดด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งตกประมาณ 200,000 บาท แต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ว่าเป็นโรคอะไร
ปีถัดมา ถูกบังคับต้องร่วมจ่ายเนื่องจากเรียกร้องสินไหมเกินสามครั้งและเบี้ยประกันค่าสินไหมเกิน 400% ของเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายต่อปี หลังจากนั้น ก็มีการเข้าโรงพยาบาลอีก จนสามารถวินิจฉัยว่าโรคที่ป่วยคือโรคมะเร็ง แต่ลูกค้าต้องร่วมออกค่าใช้จ่าย 30% ลูกค้าจึงฟ้องร้องบริษัทว่า ในปีที่ผ่านมาลูกค้าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรง ไม่สมควรต้องถูกบังคับให้ร่วมจ่าย บริษัทประกันภัยก็อ้างว่า ณ เวลานั้น ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยัน ว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง จึงต้องยึดตามเงื่อนไขว่ายังเป็นโรคทั่วไป เรื่องนี้ต้องให้ศาลตัดสิน
2. ฉากทัศน์ที่ 2
ลูกค้าเป็นผู้สูงอายุ ประมาณ 70 ปี ระยะหลังเริ่มป่วยบ่อย เข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ จนเมื่อค่ารักษาพยาบาลขึ้นไปใกล้ 400% ของเบี้ยประกันสุขภาพ จึงไม่กล้าเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีก พยายามยื้อไปเข้าในปีกรมธรรม์หน้า เกรงว่าปีหน้าจะถูกจับเข้าเงื่อนไขต้องร่วมจ่าย เมื่อมีอาการผิดปกติของหัวใจก็พยายามฝืนทน สุดท้ายเสียชีวิต ครอบครัวนี้จึงฟ้องร้องบริษัทประกันภัยว่าเป็นต้นเหตุให้ลูกค้าเสียชีวิต คดีนี้ถือเป็นคดีผู้บริโภคและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องใช้เวลาในการตัดสินและฟังผู้เชี่ยวชาญทางสังคมพอสมควร
3. ฉากทัศน์ที่ 3
ลูกค้าทำประกันสุขภาพมา 40 ปี ไม่เคยเรียกร้องสินไหมเลย จนเมื่ออายุใกล้ 80 ปี ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย จนเข้าเงื่อนไขของการต้องร่วมจ่ายในปีถัดไป ลูกค้าถูกลดการคุ้มครอง 30% แต่เบี้ยประกันต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทุกห้าปี จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมการรักษาพยาบาล และไปใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รัฐต้องรับภาระในการดูแลไป ขณะที่บริษัทประกันสุขภาพรู้สึกโล่งใจ ลดภาระไปอีกหนึ่งคน
4. ฉากทัศน์ที่ 4
ลูกค้าเพิ่งทำประกันไม่นาน แต่เป็นคนใส่ใจในสุขภาพมาก มีความรู้สึกว่าเมื่อซื้อประกันแล้วก็ต้องใช้สิทธิ์ให้คุ้ม เมื่อป่วยเป็นอะไรนิดหน่อยก็อยากให้แพทย์วินิจฉัยให้ทราบ ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือแพงขนาดไหนไม่เป็นไร สุดท้ายไปเข้าเงื่อนไขการร่วมจ่าย โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่าเดิมแต่สิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลลดลงไป 30% ลูกค้าจึงยกเลิกกรมธรรม์ไปซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทอื่น พร้อมกับฟ้องบริษัทประกันภัยว่าโรคที่ทำให้ตนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้นเป็นโรคที่มีความจำเป็น ไม่ใช่ simple disease พร้อมนำประวัติผู้ป่วยมายืนยันในศาล 
ทางด้านตัวแทนประกันชีวิต พยายามชี้แจงเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่อธิบายเท่าไหร่ ลูกค้าก็ไม่รับฟัง บังเอิญเป็นการยกเลิกกรมธรรม์ในปีที่ 2 ทำให้ตัวแทนถูกบริษัทลงโทษ ตัดเงินเดือนตัวแทนประกันชีวิต ในโทษฐานขายลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา ตัวแทนก็แย้งว่าไม่ใช่ความผิดของเขาเลย แต่บริษัทก็ไม่ฟัง 
ความปั่นป่วนจากการใช้มาตรการใหม่นี้ คงมีต่อไปเรื่อยๆ เมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตอบรับมาตรการใหม่ด้วยความเต็มใจ
ผมยังคิดว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องค่อยๆพัฒนาไป หากไม่ได้ผลก็มีมาตรการเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้คนสามารถตามได้ทันว่า ทำไมบริษัทประกันภัยจึงต้องใช้มาตรการเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา
การหักด้ามพร้าด้วยเข่า รังแต่จะนำมาซึ่งความไม่เข้าใจและต่อต้านได้