วันที่ 9 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก พรรคกล้าธรรม ได้โพสต์ว่า ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวเตรียมจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) ภายใต้แนวคิด “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” สนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
งาน Field day จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา และผู้นำองค์กรชาวนา ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งหากร่วมสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดหรืองดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง การใช้เครื่องอัดฟาง การใช้ประโยชน์ตอซังและฟางข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดกิจกรรมแสดงและสาธิต เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟางข้าว การสาธิตการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังให้เหมาะสมและถูกต้อง
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรเผาฟางข้าว จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซัง และฟางในนาข้าว โดยมีประสทธิภาพสามารถย่อยสลายได้ภายใน 7-10 วัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% – 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM 2.5ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กรมการข้าวจึงได้ปรับวิธีการปลูกข้าว มาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียก และสภาพแห้งที่เหมาะสม กับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง โดยช่วงที่เหมาะสม โดยเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวได้เริ่มทดลองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชมชนในพื้นที่ 22 จังหวัดและมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 5,000 คนแล้ว โดยการปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวดังกล่าว สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ปัจจุบันเราสามารถผลิตข้าวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10 ล้านไร่