“นิด้าโพล” เผยคนไทยเกินครึ่งเชื่อ “นายกฯอิ๊งค์” อยู่ยาวตลอดปี 68 แม้ “การเมืองวุ่น-ศก.แย่” ด้าน “ซูเปอร์โพล”เผยปชช.อยากเห็นปฏิรูปการเมือง แก้ปัญหาปากท้องจริง ไม่หลอกลวง
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.68 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ในปี 2568” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ในปี 2568 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไป ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.61 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 39.92 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ 7.33 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายน้อยลง และร้อยละ 2.14 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะไม่วุ่นวายเลย
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในปี 2568 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 51.22 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ยาวตลอดทั้งปี รองลงมา ร้อยละ 21.60 ระบุว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 15.34 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 15.04 ระบุว่า จะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล และทำให้รัฐบาลล่ม ร้อยละ 5.88 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะลาออก ร้อยละ 5.73 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะโดนชุมนุมขับไล่ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 3.05 ระบุว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะโดนรัฐประหาร ร้อยละ 2.82 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะโดนคดีความทางการเมืองจนต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 1.76 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะเปิดทางให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.35 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะแย่เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 32.82 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะแย่ลง ร้อยละ 21.99 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะดีขึ้น และร้อยละ 10.84 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะดีเหมือนเดิม
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปในสังคมไทย ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.43 ระบุว่า คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทย จะแย่เหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 33.20 ระบุว่า คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทย จะแย่ลง ร้อยละ 20.46 ระบุว่า คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทย จะดีขึ้น และร้อยละ 11.91 ระบุว่า คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทย จะดีเหมือนเดิม
ด้าน ดร.ชาญวิชย์ อริยาวรนันต์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง "เสียงของประชาชนที่หายไป" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศครั้งนี้ สะท้อนถึงความต้องการและความกังวลของประชาชนที่อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองหรือความสนใจจากผู้มีอำนาจและนโยบายสาธารณะอย่างเพียงพอ เสียงของประชาชนที่หายไปจึงมีความหมายลึกซึ้งโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้กับประชาชน พบว่าด้านการเมือง การปฏิรูปการเมืองให้มีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น ร้อยละ 72.3 ความมั่นคงของรัฐบาลที่มีความ สำคัญต่อเสถียรภาพของประเทศ ร้อยละ 68.1 คอร์รัปชัน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ไข ร้อยละ 64.5ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองในการเข้าถึงอำนาจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และการแทรกแซงทางการเมือง ร้อยละ 59.7ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพมีความสำคัญที่ต้องช่วยกันปกป้องรักษา ร้อยละ 55.8
ด้านเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องได้จริงไม่หลอกลวงประชาชน ร้อยละ 75.8 การจ้างงานที่ต้องกระจายสู่ท้องถิ่น ร้อยละ 70.2 รายได้และการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำคนในสังคมเมืองและนอกเมือง ร้อยละ 65.9 นวัตกรรมและการลงทุน เป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจ ร้อยละ 60.7 สภาพแวดล้อมการลงทุนที่จำเป็นต้องเร่งปรับปรุง ธรรมาภิบาล การส่งเสริมการลงทุน วัตถุดิบ แรงงานคุณภาพ เป็นต้น ร้อยละ 55.4 ด้านสังคม การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับการปรับปรุง ร้อยละ 78.3 สิทธิสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่ประชาชนทั่วไประดับรากหญ้าเข้าถึงได้ ร้อยละ 73.1 ความมั่นคงของสังคมที่เป็นปัจจัยสำคัญสร้างสังคมดีมีความสุข ร้อยละ 68.2 ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน ที่ต้องได้รับการแก้ไข เร่งด่วน ร้อยละ 64.4 สิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหญิงควรเร่งดูแลใกล้ชิด ร้อยละ 59.9