“กรมคุก"แจงกรณีการพักการลงโทษ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และตามที่กฏหมายกำหนดไว้
          
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว พาดหัว 10 กรณีคอร์รัปชันแห่งปี 2567 ป่วยทิพย์ชั้น 14 โกงซ้อนโกง โดยมี ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความ พาดพิงกรณีลดโทษพักโทษมอบอภิสิทธิ์ให้นักโทษคดีโกงชาติ นั้น  
          
วันที่  25  ธ.ค.67 ที่กรมราชทัณฑ์  ด้วยๆกรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า การพักการลงโทษเป็นระบบการบริหารโทษประการหนึ่งที่ใช้กันทั่วโลก       โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และผ่านกระบวนการในการพัฒนาพฤตินิสัย     มีความประพฤติดี มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคม อันเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านอาชีพ ครอบครัว การปรับตัว ตลอดจนการวางแผนอนาคต ก่อนที่จะครบระยะเวลาต้องโทษ และกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ในระหว่างพักการลงโทษนั้น ผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขในความควบคุมดูแลของกรมคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล แต่หากผิดเงื่อนไข ก็จะถูกนำตัวกลับไปคุมขังยังเรือนจำต่อไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบริหารโทษตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 จนมาสู่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่า จำคุกน้อยปล่อยตัวไวนั้น ขอเรียนว่าผู้ต้องขังทุกรายได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานในชั้นเรือนจำ และเสนอต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ที่ประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงาน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์   พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และฉบับที่ (2) พ.ศ. 2564 อย่างเสมอและเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการลงโทษจำคุกตามหมายจำคุกล่าสุด กล่าวคือ ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาการพักการลงโทษ กรณีปกติ จะต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2-5 ปี ส่วนผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ เช่น เจ็บป่วยหรือสูงอายุ 70 ปี ต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ดังนั้น การพิจารณาการพักการลงโทษ จึงได้ดำเนินการตามกฎ กติกา ที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้

กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และชอบด้วยกฎหมาย       มิได้เอื้อสิทธิประโยชน์ หรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด