“ เวลาที่เราแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนที่แท้จริง ไม่ได้ประโยชน์เลย ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสส. ซึ่งไม่เกี่ยวกับประชาชนเลย”

หมายเหตุ : “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตสส.พัทลุง  ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐ” วิเคราะห์ถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า 2570 หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันเข้มข้น จะส่งผลกระทบต่อการได้มา "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" หรือไม่ และอย่างไร รวมทั้งชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่แท้จริงนั้นควรตอบโจทย์เรื่องใด

-พรรคเพื่อไทย เคยชูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ในการหาเสียง ที่ผ่านมา จนมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี มาถึงนายกฯแพทองธาร ชินวัตร

ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญที่ต้องการรักษาเอาไว้ คงแก้ได้ยาก เพราะในเวลานี้พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีเสียงสว.อยู่ในมือ เมื่อเป็นเช่นนี้การแต่งตั้งบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระที่มีความสำคัญทั้งหลาย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสว. เพราะฉะนั้นสิ่งไหนที่เขาได้ประโยชน์ ก็คงไม่อยากที่จะแตะหรอก

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ค่อนข้างจะไม่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คิดจะแก้ แต่ก็มีอุปสรรคอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่อยากแก้ ดังนั้นการเราจะเห็นได้ว่าการที่จะให้มีการทำประชามติโดยใช้เสียงสองชั้น จึงไม่ผ่านความเห็นชอบจากสว.

-มีการประเมินจากหลายฝ่ายว่า ในการเลือกตั้งปี 2570 เราก็อาจจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ดี

ผมเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น และวันนี้คนที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผมเองได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ก็เหมือนจะยกธงขาวแล้วว่า ถึงอย่างไรในรัฐบาลนี้ก็คงแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้หรอก

-ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน รวมถึงพรรคประชาชน เองที่อยากรื้อในส่วนขององค์กรอิสระ

ผมมองว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสียหายมาก ซึ่งหากไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก็จะอ้างกับประชาชนว่า ได้ทำตามที่หาเสียงเอาไว้แล้ว แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมีปัญหากับพรรคภูมิใจไทย กับสว.ที่ไม่เห็นด้วย

และเมื่อเราดูจากคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นได้ว่าพรรคไหนได้ประโยชน์ จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุด พรรคเพื่อไทยเองก็อาจจะได้ประโยชน์ พรรคภูมิใจไทยก็มีประโยชน์ ส่วนเรื่องที่นักการเมืองอยากจะแก้กันอยู่บ้าง คือเรื่องระบบบัญชีรายชื่อ ว่าควรจะมีต่อไปหรือไม่ เข้าใจในเรื่องนี้อาจจะไม่ต้องทำประชามติด้วย  และถ้าไม่มีระบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองที่จะเสียหายมากที่สุด คือพรรคประชาชน พรรคสีส้ม

- ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่ดูเหมือนว่าการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัยก็ยังวนอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการแก้กติกาการได้มาซึ่งสส.เท่านั้น

ผมเห็นด้วยมาตลอดว่า เวลาที่เราแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนที่แท้จริง ไม่ได้ประโยชน์เลย ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสส. ซึ่งไม่เกี่ยวกับประชาชน

ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญควรเป็นไปเพื่อปรับโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นกับประชาชน หรือเรื่ององค์กรอิสระ ซึ่งจริงๆแล้วการตรวจสอบองค์กรอิสระ ทำได้ยาก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบองค์กรอิสระได้มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช.,กกต.หรือยกตัวอย่าง กรณีกกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง นั้นจะมีผู้พิพากษาศาลฎีกา อยู่ 2คน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะไปตรวจสอบ เมื่อกกต.กระทำผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ที่ศาลฎีกา โดนไปด้วย ผมเคยเจอมาแล้ว เวลาที่เราฟ้องกกต. ปัญหาคือศาลไหนจะไปลงโทษผู้พิพากษา ศาลฎีกาที่มาเป็นกกต.ได้

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราต้องยอมรับว่าประชาชนไม่มีความรู้ พอที่จะไปร่างรัฐธรรมนูญได้ แม้กระทั่งสส.เองก็ตาม ผมเชื่อว่าจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีความรู้มากพอเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องอุดมคติ มันจึงยากมาก

ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หากจะให้ประชาชนเลือกส.ส.ร.กันมาเอง ก็ต้องมีการถามกลับว่า แล้วเหตุใดเมื่อสส.ก็มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน ก็สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้

รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของอุดมคติ ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้  ผู้ที่มีความเข้าใจการเมืองมาร่าง เมื่อร่างเสร็จ จึงให้ประชาชน ตรวจสอบ ตรวจทาน ด้วยการลงประชามติ หรือมีการแก้ไขในบางส่วน ที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งการร่างฯจริงๆ เราไปพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทั้งที่ในความเป็นจริง ประชาชนร่างไม่ได้ ประชาชนกว่า 60 ล้านคน อ่านรัฐธรรมนูญกันกี่คน และรู้หรือไม่ว่าปัญหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน จึงต้องใช้คนที่มีความรู้ ความชำนาญมาร่าง

ในสมัยที่คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญ ก็ใช้ผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ มาร่าง แต่ในยุคนั้นไปเน้นเรื่องการผนวกเรื่องการสืบทอดอำนาจ ไปวางกับดัก ต่างๆไว้ ก็เลยมีปัญหา

ผมมองว่าหากเราจะมีการแก้ไขในบางเรื่อง และให้มีประโยชน์กับประชาชน สส.และสว.ก็สามารถทำได้ เช่นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  ออกกฎหมายที่ขจัดการผูกขาด อำนาจการครอบงำตลาด แต่ปรากฎว่ากลับไม่มีใครแตะเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นประชาชนจึงยังไม่ได้ประโยชน์ อย่างเต็มที่จากรัฐธรรมนูญเลย