สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*… 

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับวินิจฉัยคำร้องกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ช่วยทำให้สถานการณ์โดยรวมของพรรคเพื่อไทยหลุดพ้นความเปราะบาง แต่ก็อาจเป็นเพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น …*…

 เพราะเมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว ที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญไม่ใช่มีแค่เพียงการต่อสู้ในสภา หรือการทำนิติสงครามเท่านั้น หากมีโอกาสเจอแรงกดดันจากม็อบอีกด้วย …*…

 “ภายในประมาณไตรมาสแรกของปีหน้า หากรัฐบาลทำอะไรที่ไม่เข้าที่เข้าทางหรือผิดจริยธรรม จะรวบรวมมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาล เพราะไม่ควรจะอยู่ต่อไป”คำประกาศจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย …*…

โดยเงื่อนไขหลักซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้ปลุกระดมมวลชนลงท้องถนนนั้น ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ MOU 44 หรือบันทึกความเข้าใจพื้นที่ทับซ้อนของไหล่ทวีปที่ประเทศไทยลงนามร่วมกับกัมพูชาไว้เมื่อปี 2544 ที่มีหลายภาคส่วนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 ดังกล่าว …*…

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญการทำม็อบว่านายสนธิ กับพวกมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ตนคิดว่าการประกาศลงถนนคงไม่ใช่เร็วๆนี้ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการชุมนุมขนาดใหญ่แบบหลายๆปีก่อนจะเกิดขึ้นง่ายๆ ทั้งนี้การปลุกประเด็นเรื่องชาตินิยมแม้จะมีผลกับคนส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่วาระของคนส่วนใหญ่ เพราะขั้นตอนการเจรจาใดๆกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เริ่ม และหากมีการดำเนินการรัฐบาลก็จะทำอย่างชัดเจนโปร่งใส โดยมีทรัพยากรปิโตรเลียมกว่า 10 ล้านล้านบาท ที่จะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมาย …*…

 “การส่งสัญญาณเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะมาจากคนกลุ่มเดิม ด้วยประเด็นและวิธีการแบบเดิม แต่บริบททางการเมืองต่างออกไป นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการเมือง 3 ก๊กที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตุไว้ พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน เป็นการร่วมกันด้วยกลไกอำนาจ กติกา และสถานการณ์ ไม่ใช่การหลอมรวมทางอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ก๊กจึงมีทั้งส่วนที่เผชิญหน้า และประสานประโยชน์กัน ที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องการชุมนุมอยู่นี้คือก๊กอนุรักษ์นิยม ยังไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทนชัดเจน แม้พลังของก๊กนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่กำลังร่วมรัฐบาลกับก๊กเพื่อไทย แต่ไม่ยอมรับการนำของเพื่อไทย และยังมีความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้ามเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบนเวทีนอกจากวิจารณ์เพื่อไทย ยังโจมตีก๊กพรรคประชาชนด้วย เพราะไม่เอาก๊กนี้เช่นกันหากมีการเคลื่อนไหวมวลชนต้านรัฐบาลเพื่อไทย อาจเป็นได้ที่จะมีกองเชียร์ก๊กพรรคประชาชนบางส่วนเข้าด้วย เพราะเคยร่วมก๊กอนุรักษ์นิยมมาก่อน โดยลักษณะทางมวลชน ที่ออกจากก๊กเพื่อไทยส่วนใหญ่เข้าก๊กพรรคประชาชน ส่วนจากก๊กอนุรักษ์นิยมจะไม่เข้าก๊กเพื่อไทย แต่ไหลเข้าก๊กพรรคประชาชนด้วย และอาจไหลกลับก๊กอนุรักษ์นิยมอีกได้ ถ้าสถานการณ์มาถึง ผมไม่คิดว่าจะมีม๊อบใหญ่ ที่ควรจะเป็นคือแต่ละก๊กสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ได้ยึดติดผูกพันกับก๊กไหน แล้ววัดกันในสนามเลือกตั้ง ผลงานจะเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ”นายณัฐวุฒิระบุ …*… 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ และรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่ม็อบลงถนนชุมนุมต่อต้าน ในช่วงต้นๆ ไม่เคยมีใครคาดการณ์ว่าจะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาล แต่ในที่สุดผลก็ออกมาอย่างที่ได้รับทราบกัน...*...

ฉะนั้น จึงไม่มีหลักประกันใดที่ทำให้เชื่อได้แน่นอนว่ารัฐบาลนายกฯแพรทองธาร ชินวัตร จะไม่เผชิญชะตากรรมเดียวกันกับรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ และรัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ …*…

 เว้นแต่รัฐบาลนางสาวแพรทองธารจะสามารถสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานภัยจากม็อบได้อย่างมีประสิทธิภาพ …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (28/11/67)