วันที่ 26 พ.ย.67 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท - คุยการเมือง" ระบุว่า...

ผล อบจ.อุดรธานี ไม่ได้ชี้วัดเป้า 200 ส.ส.ของทักษิณ

การที่นายทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะกวาดที่นั่ง ส.ส. 200 คนได้ไม่ยากนั้น ถ้าหากจะหยิบยกกรณีผลการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ที่นายทักษิณไปลงพื้นที่หาเสียงด้วยตัวเอง และผลการเลือกตั้งที่ออกมาอยู่ในระดับที่ห่างกัน 58,000 คะแนน ถือว่าไม่ได้ชนะขาดลอย เพราะถ้าจะชนะขาดลอยต้องมีคะแนนห่างกันไม่น้อยกว่า 100,000 คะแนน แต่เป็นการชนะกันในระดับปานกลาง ไม่ถึงขั้นสูสี

แต่เมื่อดูการขยายฐานเสียงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน มีการพัฒนาทางด้านฐานเสียงที่แตกต่างกัน เพราะถ้าเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง อบจ.เมื่อปี 2563 พรรคเพื่อไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นแค่ 1500 คะแนน ในขณะที่พรรคประชาชนมีคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คะแนน ถือว่าประสบความสำเร็จในการขยายฐานเสียง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในผลการเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถเอาชนะได้

ถ้าหากจะนำผลการเลือกตั้งนายกอบจ. อุดรธานี ซึ่งเป็นการเมืองระดับท้องถิ่นมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะเงื่อนไขที่แตกต่างกันคือ

1.การเลือกตั้งระดับชาติเป็นการเลือกตั้งทั่วไป มีพรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งทุกพรรค การแข่งขันกันหลายพรรค ซึ่งต่างกับการเลือกตั้งนายกอบจ. ครั้งนี้ ที่ต่อสู้กัน2พรรค ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน

2.การเลือกตั้งระดับชาติ มีการแข่งขันกันในเรื่องแคมเปญการหาเสียง มีจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเดิมพัน มีการสร้างกระแสกันระดับทั่วประเทศ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ ไม่สามารถสร้างกระแสทางการเมืองในวงกว้างได้

3.การเลือกตั้งระดับชาติ มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และมีการเลือกตั้งนอกสถานที่ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนหนังสือ และทำงานอยู่ในต่างจังหวัด สามารถใช้สิทธิ์ได้ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกเขต จึงทำให้คนที่ทำงานในต่างจังหวัด ไม่ได้เดินทางมาลงคะแนน จึงทำให้พรรคประชาชนที่มีฐานเสียงของคนรุ่นใหม่เสียเปรียบ

4.การเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคเพื่อไทยอยู่ในฐานะแกนนำรัฐบาล สามารถใช้เงื่อนไข และกลไกอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ ในการสร้างคะแนนเสียงได้มากกว่าพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เทคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้าน

5.พรรคเพื่อไทยอยู่ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลสามารถระดมทุน จากกลุ่มผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ผู้สมัครของพรรคได้มากกว่าพรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้าน ไม่มีกลุ่มทุนสนับสนุน ยกเว้นทุนของตัวเอง ซึ่งทำให้การหาเสียงมีความอัตคัด ฝืดเคืองมากกว่าพรรครัฐบาล

ถ้าหากจะวัดศักยภาพของพรรคเพื่อไทยว่า จะได้ที่นั่งส.ส. 200 ที่นั่งตามที่นายทักษิณประกาศเอาไว้หรือไม่ ขอให้รอดูการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2570 จะมีความชัดเจนกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกัน จนไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย