ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ปาฐกถาในงาน ‘THAILAND 2025 : โอกาส • ความหวัง • ความจริง’ ในหัวข้อบรรยาย “AI: New opportunities” เมื่อ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาท เราจะแสวงหาโอกาสอย่างไร
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า กสทช. พร้อมส่งเสริม กำกับดูแล AI ในทุกทุกมิติ เพื่อเตรียมรับมือกับอนาคตให้คนไทยได้มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ผ่านระบบโทรคมนาคม ขณะนี้เทคโนโลยี AI ได้เข้ามาเป็นส่วนนึงในชีวิตประจำวันของทุกคน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยในปัจจุบัน AI ได้ครอบคลุมชีวิตประจำวันผ่าน IoT อุปกรณ์อัจฉริยะ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถืออยู่ในมือ ซึ่งได้กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิต การทำงานของระบบปฏิบัติการ AI ผ่านโทรศัพท์มือถือนี้ คือการเก็บข้อมูลทุกการเคลื่อนไหวและทุกพฤติกรรมของมนุษย์ ก่อนนำข้อมูลส่วนตัวที่ได้เหล่านั้นไปทำการประมวลผล วิเคราะห์ และนำกลับมาเสนอสู่ผู้ใช้งาน ทุกคนได้เชื่อมโยงกับ AI ส่วนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น AI จะมีศักยภาพในการปฏิวัติเทคโนโลยี สามารถทำงานหรือแก้ไขปัญหาที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดมา คือปัญหาทางด้านจริยธรรม และความปลอดภัยทางเทคโนโลยี
“บทบาทหน้าที่สำคัญของ กสทช. นอกจากการกำกับดูแล AI แล้ว กสทช. ยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการใช้งาน AI ซึ่งสำคัญเช่นกัน กสทช. ต้องทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านระบบโทรคมนาคม แม้ในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งร่วมพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้สามารถใช้งานได้และเกิดประโยชน์กับประชาชนทุกคนในทุกภาคส่วน ทั้งระบบสาธารณสุข การเงิน การขนส่ง การผลิต และการสื่อสาร”
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวต่อว่า กสทช. จะมุ่งแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับเทคโนโลยี AI จัดสรรคลื่นความถี่ และเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแล้วกว่า 100 ล้านราย ในไทยการใช้ เครือข่าย 4G ประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91.00%
ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์โทรศัพท์มือถือภายในประเทศไทยถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G เข้ากับภาคส่วนอุตสาหกรรมในกิจการต่างๆ เช่น การผลิตของภาคเกษตรกร การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัยระบบขนส่งมวลชนที่ตรงต่อเวลาและสามารถระบุเวลาที่ชัดเจนได้ และประยุกต์ใช้ Smart 5G กับการพัฒนาทางด้านการศึกษา ดังนั้น กสทช. จึงจะขยายเครือข่าย 5G เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกคนจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลได้ในทันที พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์ USO ให้มีความทันสมัยเพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข การเข้าถึงทางการแพทย์ ที่ต้องการข้อมูลเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ กสทช. จะส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมนวัตกรรมจัดตั้งพื้นที่ทดลอง (Regulatory Sandboxes) ที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทดลองใช้เทคโนโลยี AI ในการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย ส่งเสริมภาคบริการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่ง
"กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะต้องสร้างความมั่นใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แข่งขันอย่างโปร่งใส เป็นธรรม หลีกเลี่ยงการออกกฎเกณฑ์ควบคุมมากเกินไป และทำงานร่วมกับภาคเอกชนในทุกมิติ"