วันที่ 28 ต.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายชิบ จิตนิยม สว.สายสื่อมวลชน ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาความเสียหายจากธุรกิจเครือข่าย ดิไอคอน กรุ๊ป ที่มีผู้เสียหายเกือบ 10,000 คน และลุกลามทั่วโลกว่า ความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย ดิ ไอคอน กรุ๊ป ยังลุกลามบานปลายไม่หยุด ตัวเลขจากสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อค่ำวันที่ 27 ต.ค.สรุปว่าระหว่างวันที่ 10-27 ต.ค.67 มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 9,472 คน ความเสียหายเกือบ 3,000 ล้านบาท สอบปากคำผู้เสียหายแล้ว 5,999 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,728 ล้านบาท ซึ่งพิษของดิ ไอคอน ระบาดไปเกือบ 20 ประเทศ ทั้งเอเชีย และยุโรป โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ และพำนักอยู่ที่นั่น นอกจากจะลงทุนด้วยตัวเองแล้วยังชักชวนญาติชาวต่างชาติให้มาร่วมเปิดบิลลงทุนกับ ดิ ไอคอน รวมความเสียหายตรงนี้อีกกว่า 20 ล้านบาท
นายชิบ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการส่งคดีให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหวั่นว่าหากดำเนินการไม่เสร็จทันตาม กรอบเวลา อาจจะต้องมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจากการคุมขัง ทำให้ผู้ต้องหารอดคดี รวมถึงมาตรการควบคุมป้องกันการใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ให้มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชน ลงทุนธุรกิจขายตรง โดยการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมา สร้างความน่าเชื่อถือ การทำหน้าที่กำกับดูแลของ กสทช. รวมถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ให้ได้รับความยุติธรรม
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมายจากนายกฯชี้แจงแทนว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านธุรกิจขายตรง โดยมีกฎหมายมาดำเนินการ ได้แก่ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขายตรง ซึ่งในกรณีของดิไอคอนเป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียนไว้ 2.พ.ร.บ.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และหลอกลวงประชาชนโดยชักชวนให้มีการสมัครสมาชิก ในธุรกิจขายตรงและนำเงินมาลงทุน และ 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขณะที่การใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณามีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องและได้กำกับดูแลอยู่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)จัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส กรณีหากเกิดเหตุการณ์ผิดสังเกตหรือสงสัย,สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีการกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย,กระทรวงสาธารณสุข ดูแลในเรื่องมาตรฐานสินค้าว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่,กระทรวงการคลัง เข้าไปตรวจสอบในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานและป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจที่เรียกว่าแชร์ลูกโซ่ ส่วนกรณีของดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์ ต่างๆ ทางสมาคมโฆษณา และผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิง รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการโฆษณาและตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด
นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนภารกิจของ กสทช. เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก และเป็นการตรวจสอบการกำกับในการออกอากาศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลและข่าวสารที่มีความถูกต้อง ทั้งรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ และแจ้งแนวทางในการปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ เพื่อให้เกิดความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องของการผิดกฎหมายและป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน นอกจกานั้น กสทช.ยังได้ทำงานร่วมกับองค์การอาหารและยา(อย.)และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ได้ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดต่างๆ ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้มีการเฝ้าระวังเรื่อง พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดทางด้านคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 14 (1) ได้กำหนดลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไว้ และเราได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด
“วันนี้ข้อมูลที่ทราบ มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย และรัฐบาลได้มีการดำเนินการในการควบคุมเรื่องการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง เสนอให้มีการกำหนดมาตรการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสร้างมาตรฐานในการโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค”นายประเสริฐ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการอายัดทรัพย์สิน การดำเนินการต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน วันนี้ทราบล่าสุด ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสตช. จะโอนคดีหลักเข้าสู่ ดีเอสไอ เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนเรื่องการเยียวยา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)จะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป
จากนั้นนายชิบ ได้ถามย้ำถึงมาตรการที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนไว้วางใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ เพราะประชาชนเป็นผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากจากกระบวนการต่างๆ
นายประเสริฐ ชี้แจงว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ. ซึ่งได้มีอนุกรรมการของคณะขึ้น 2 ชุด ประกอบด้วยชุดแรกนำสืบค้นหาข้อมูลทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา และอนุกรรมการชุดที่ 2 คือการดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ในอนาคต วันนี้(28 ต.ค.) อนุกรรมการทั้ง2 คณะ จะเข้ามารายงานกับคณะทำงานชุดใหญ่ เพื่อดำเนินการ อย่างเข้มงวดในเรื่องนี้ต่อไป หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ากระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรืออาจจะมีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต