เวทีประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยเสนอ 3 แนวทางเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันเน้นด้าน "ดิจิทัล-พลังงานสีเขียว-นวัตกรรม" ด้านนายกฯอิ้งค์เชื่อหากพัฒนา 3 แนวทางนี้อย่างจริงจังส่งประเทศไทยพัฒนาในทุกมิติแน่
วันที่ 10 ต.ค.67 เวลา 11.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาขิก อาเซียน ร่วมประชุมกับนายชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต่อนายชิเกรุ อิชิบะ ในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีโดยญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือไว้วางใจ มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่น จะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง “การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัล” ทั้งนี้ประเทศไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในด้านดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นควรเพิ่มความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่ MSMEs รวมถึงเปิดโอกาสให้MSMEs เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ได้นำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่อพลเมือง แต่ก็เปิดโอกาสให้เกิดการใช้งานในทางที่ผิดได้เช่นกัน ดังนั้น อาเซียนและญี่ปุ่น ควรร่วมมือกันส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้มากขึ้น ผ่านศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้าน ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ประการที่สอง “การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว” นั้นนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เน้นย้ำว่าความมุ่งหวังของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค พร้อมแสดงความยินดีต่อการดำเนินการของโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (ASEAN-Japan Co-Creation Initiative for the Next-Generation Automotive Industry) และไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกันมากขึ้นในการประชุม Asia Zero Emission Community เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ของภูมิภาคนี้
สำหรับประการที่สามคือ “การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ”โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า นวัตกรรมเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ประเทศไทยขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนงานวิจัย พร้อมหวังว่าจะได้ร่วมมือกันเพิ่มเติมในด้านเทคโนโลยีเกษตร อาหาร และการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าหาก มีการพัฒนาตามกรอบ 3 ประการ นี้ จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น