"สรรเพชญ" จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน ชู คลอง ร.1 เป็นทางรอด หวังนายกฯแพทองธาร ลงใต้จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (4 ธันวาคม 2567) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกว่าสัปดาห์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในฝั่งอ่าวไทย สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ นายสรรเพชญ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการน้ำที่เป็นระบบ โดยนายสรรเพชญ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาคลองระบายน้ำที่ถูกอุดตันด้วยขยะ และพัฒนาทางน้ำให้สามารถไหลลงสู่ทะเลได้อย่างสะดวก พร้อมกับการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังได้ชูโครงการ "คลอง ร.1" ซึ่งเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ ครม. ปี 2543 ได้อนุมัติงบประมาณ ให้ดำเนินการที่หาดใหญ่ อันเป็นตัวอย่างสำคัญในการลดความรุนแรงของน้ำท่วมซึ่งรัฐบาลควรมีการขยายผลการพัฒนาโครงการนี้ไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในทุกปี นายสรรเพชญเห็นว่า หากสามารถพัฒนาโครงสร้างการระบายน้ำจากภูเขาให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถลดผลกระทบและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
พร้อมกันนี้ นายสรรเพชญ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมกับการวางแผนระยะยาวเพื่อบูรณาการการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ซึ่งตนทราบมาว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้วยตนเอง ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนนโยบายระยะยาวที่ยั่งยืน
ในตอนท้าย นายสรรเพชญ ย้ำว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่แค่การรับมือเฉพาะหน้า แต่ต้องเป็นการปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และมีแนวทาง แบบแผนที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมในการรับมือในระยะ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ข้างหน้า และรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจกับประชาชนว่าในปีหน้าจะสามารถรับมือได้และไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก เพื่อเป็นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต