กรมปศุสัตว์จัดส่ง “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” เพื่อช่วยเหลือปางช้างที่ประสบอุทกภัยในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จุดเก็บรักษาเสบียง คือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชชนนี โดยจะกระจายช่วยเหลือปางช้างที่ได้รับผลกระทบต่อไปฃ

วันที่ 8 ต.ค.67 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นำเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เดินทางไปส่ง “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” เพื่อช่วยเหลือปางช้างที่ประสบอุทกภัยในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับหญ้าที่นำส่งไปช่วยเหลือปางช้างในอำเภอแม่แตง สามารถให้กินได้ทั้งช้าง วัว ควาย แพะ และแกะ โดยนำไปทั้งหญ้าสดและหญ้าแห้ง แบ่งเป็นหญ้าสด 3,000 กิโลกรัม หญ้าแห้ง 32,000 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 35,000 กิโลกรัมหรือ 35 ตัน ในการส่งมอบ “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” เพื่อช่วยเหลือปางช้างในอำเภอแม่แตงครั้งนี้ กรมปศุสัตว์ร่วมกับนายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง พันโทวัชระ ถึกสุวรรณ์ ผบ. ร.7 พัน.2 นำส่งไปเก็บไว้ที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชชนนี ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาท้องถิ่น ตำบลกึ๊ดช้าง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดเก็บรักษาเสบียงอาหารสัตว์ เพื่อนำไปกระจายช่วยเหลือปางช้างต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้จัดทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เข้าช่วยตรวจรักษาสัตว์ป่วยและดูแลสุขภาพสัตว์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยสัตว์อาจเครียดและอ่อนล้า นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อุณหภูมิในภาคเหนือจะเริ่มลดลง เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจึงมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยหรือเกิดโรคระบาดสัตว์ได้ง่าย 

ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อห่วงใยของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอิทธิ ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ที่กำชับให้กรมปศุสัตว์ดูแลด้านอาหารสัตว์และสุขภาพของทั้งปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้ทั่วถึงและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ 

​​​​​​​

หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ หรือแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชม.