โครงการชลประทานเชียงใหม่ ยืนยันฝายดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ไม่ได้ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ระบายน้ำไม่ได้ แม้บานประตูจะเสีย แต่ยังสามารถบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งหาแนวทางในการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็วต่อไป
วันที่ 7 ต.ค.67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอิทธิพลจากพายุ "ซูลิก" ในช่วงต้นเดือนและปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปิง ก่อนปริมาณน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงตอนล่างผ่านฝายดอยน้อย ซึ่งได้ยกบานประตูน้ำ เพื่อเร่งระบายลงสู่พื้นที่ตอนล่างไปลงเขื่อนภูมิพลตามลำดับ ต่อมาพบว่ามีท่อนซุงเข้ามาชนสายสลิงที่อยู่ด้านหน้าบานระบายของฝายดอยน้อย ทำให้สลิงขาด โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้เร่งเข้าไปแก้ไขด้วยการนำสลิงที่ขาดมาเกี่ยวกับหูบานด้านหลังของประตูระบายน้ำ เพื่อให้บานระบายสามารถยกขึ้นได้ โดยสลิงที่ขาดมีจำนวน 5 บาน ที่สามารถยกบานขึ้นได้ที่ 2.5 - 3 เมตร ส่วนบานประตูที่สลิงไม่ขาดสามารถยกขึ้นได้สูงสุดที่ 6 เมตร
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสลิงขาด นั้น จากการสำรวจการระบายน้ำผ่านฝายดอยน้อย ยังสามารถระบายน้ำได้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงยังเคลื่อนที่ผ่านได้เท่าเดิม ศูนย์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 80 เซนติเมตร ทำให้น้ำเอ่อล้นคันด้านหน้าของฝายเข้าไปในพื้นที่บ้านท่าไม้ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบ ก่อนที่น้ำล้นคันนี้จะไหลลงสู่ทางผันน้ำเดิม และขณะนี้ได้ไหลกลับลงสู่แม่น้ำปิงตามปกติแล้ว ส่วนคันกั้นน้ำที่ได้รับความเสียหายบางส่วน จะได้เร่งหาแนวทางในการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้โดยเร็วต่อไป
ส่วนกรณีที่มีข้อกังขาว่า น้ำที่เกิดจากการยกตัวขึ้นบริเวณด้านเหนือของฝายดอยน้อย ส่งผลกระทบต่อน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ นั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ด้านเหนือของฝายดอยน้อย จะมีฝายหนองสลีกอยู่ห่างขึ้นไปประมาณ 15 กิโลเมตร พบว่าระดับน้ำที่ยกตัวด้านเหนือของฝายดอยน้อยก็ยังย้อนไปไม่ถึงด้านท้ายของฝายหนองสลีก เท่ากับว่าปริมาณน้ำดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบย้อนขึ้นไปถึงอำเภอหางดง สันป่าตอง รวมถึงในเขตเมืองของจังหวัดลำพูน แต่อย่างใด มีเพียงจุดที่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งที่บริเวณเหนือฝายดอยน้อย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา เท่านั้น
กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าประตูระบายน้ำของฝายดอยน้อยยังยกขึ้นลงได้ และไม่มีผลต่อการระบายน้ำ ส่วนเรื่องขยะ เศษสวะ กิ่งไม้ที่มาติดที่ฝายดอยน้อยขณะนี้ มีผลกระทบน้อย แต่หากมาติดที่ด้านหน้าฝาย ก็จะทำให้การยกตัวของน้ำเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ทำการตักขยะออกตลอด ทำทุกวัน โดยใช้รถแบ็คโฮ แขนยาว จำนวน 2 คัน และมีรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วย ร่วมกับรถของชลประทาน เป็นรถดั๊มพ์ที่จะเอาเศษขยะ เศษสวะ กิ่งไม้ นำไปทิ้งตามลำดับต่อไป
ด้านนายรังสรรค์ บุญยสิงห์ กำนันตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบประมาณ 5 หมู่บ้าน 40 กว่าครัวเรือน น้ำมาเร็วและลดเร็ว น้ำท่วมประมาณ 12 ชั่วโมง ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และน้ำก็ข้ามฝายไปแล้ว เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับพื้นที่การเกษตรเป็นสวนลำไย นาข้าว ก็มีน้ำท่วมขังไม่สูง ยังไม่ได้รับความเสียหายมาก เพราะน้ำมาเร็ว ลดเร็ว”