ผ่านมา 1 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว สำหรับ สงครามฉนวนกาซา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา

โดยไฟสงคราม ได้ถูกจุดชนวนขึ้น เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสและพันธมิตรอื่นๆ ของชาวปาเลสไตน์ ลอบข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซา เข้าไปโจมตีอิสราเอลในวันดังกล่าว ก่อนทิ้งบาดแผลไว้เป็นผู้เสียชีวิตนับพัน และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงตัวประกันอีกนับร้อยที่ถูกจับข้ามฝั่งไปยังฉนวนกาซา

ส่งผลให้ไฟสงครามข้างต้น ปะทุลุกโชนขึ้น ด้วยกองกำลังป้องกันอิสราเอล หรือไอดีเอฟ ซึ่งก็คือ กองทัพดีๆ นี่เอง ได้มีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ก่อนที่จะมีปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินตามมา ในพื้นที่ฉนวนกาซา

ทั้งนี้ ปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางกองทัพอิสราเอล ได้ถล่มจากทางตอนเหนือ รุกไล่ลงมาทางตอนกลาง และตอนใต้ตามลำดับ

ตามการเปิดเผยก็ระบุว่า สมรภูมิในฉนวนกาซา ก็คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 42,000 คน สูญหายอีกไม่ต่ำกว่า 6,000 – 20,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวนเกือบ 98,000 คน ขณะที่ ผู้อพยพลี้ภัยหนีการสู้รบก็มีจำนวนนับล้านคน

ไฟสงครามข้างต้น หาได้หยุดอยู่แต่ในฉนวนกาซาเท่านั้น ทว่า ได้เผาไหม้ลุกลามในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตเวสต์แบงก์ ที่มีรายงานการปะทะ การโจมตีกันอยู่เนืองๆ

ล่าสุด ไฟสงครามก็ได้ลุกลามโหมไหม้ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเลบานอนอย่างชนิดแทบจะเต็มตัวแล้ว เพราะมีปฏิบัติการสู้รบทั้งทางอากาศ และภาคพื้นดิน ซึ่งทางการอิสราเอล จัดให้เป็น “สงครามเฟสใหม่” ของพวกเขา ควบคู่ไปกับการถล่มกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงเดินหน้าอยู่ต่อไป

โดยเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเลบานอน

แรกเริ่มของสงครามที่ข้ามฝั่งพรมแดนเข้าไปยังเลบานอน ก็อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดกับตอนเหนือของอิสราเอล

ก่อนที่ในเวลาต่อมาสู้รบก็ลุกลามไปถึงกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ที่อยู่ทางตอนกลางของประเทศ และ ณ ปัจจุบันก็ขยายวงไปถึงตอนเหนือ เช่น เมืองตริโปลีของเลบานอนแล้ว โดยกองทัพอิสราเอล ยังคงใช้การโจมตีทางอากาศ เป็นปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญหลักในการสู้รบที่สมรภูมิในเลบานอน ณ ชั่วโมง ส่วนภาคพื้นดินแม้ว่าทางอิสราเอล ได้ส่งกองกำลังไอดีเอฟไปปฏิบัติการด้วยแล้ว แต่ยังไม่มากนัก เพราะยังสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียกำลังพลเป็นอย่างมากอยู่

หมุดหมายของปฏิบัติการสงครามในเลบานอนนั้น ก็เพื่อไล่ล่าล้างบางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกวาดล้างกลุ่มฮามาสอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าไปอาศัยในเลบานอน

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มติดอาวุธทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว ซึ่งถูกทางการอิสราเอล และชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย ก็ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนเป็นประการต่างๆ ทั้งเงินทุน และอาวุธจากอิหร่าน

โดยมีรายงานว่า กองทัพอิสราเอล ได้ปฏิบัติโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมายในเลบานอน ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอน และกรุงเบรุต ทางตอนกลาง ตลอดจนเมืองตริโปลี ทางตอนเหนือของเลบานอน ก็สามารถปลิดชีพสมาชิกระดับแกนนำ รวมไปถึงหัวหน้ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เช่น นายฮัสซัน นัสรันเลาะห์ นอกจากนี้ ก็ยังมีระดับแกนนำของกลุ่มฮามาส ที่กบดานในเมืองตริโปลี ตอนเหนือของเลบานอน ก็ตกเป็นเป้าสังหารของอากาศยานรบของอิสราเอลด้วยเช่นกัน นั่นคือ นายซาอีด อัตตาเลาะห์ อาลี แกนนำระดับสั่งการของฮามาส ถูกเครื่องบินรบของอิสราเอล ถล่มสังหารพร้อมกับครอบครัวของเขาที่เมืองตริโปลี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปฏิบัติการโจมตีเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธข้างต้น ก็สร้างความแค้นเคืองต่ออิหร่านเป็นอย่างมาก จนต้องสางแค้นด้วยการยิงถล่มด้วยขีปนาวุธและจรวดต่างๆ จำนวนราว 200 ลูก โจมตีเข้ามาถึงตอนกลางของอิสราเอลได้ แม้ว่าจะมีขีปนาวุธของอิหร่านถูกอิสราเอลใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธยิงสกัดกั้นได้จำนวนหนึ่งก็ตาม ซึ่งทางการอิสราเอล ก็ได้ประกาศที่จะ “เอาคืน” ต่ออิหร่านอย่างหนักหนาสาสมให้จงได้ ขณะที่ อิหร่าน ก็ประกาศที่จะตอบโต้กลับหากถูกอิสราเอลเอาคืนด้วยเหมือนกัน

สร้างความหวั่นวิตกให้แก่หลายฝ่าย กับปฏิบัติการทางทหาร ที่ตอบโต้กันไปมา ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริง

โดยบรรดานักวิเคราะห์ มองว่า หากเกิดการสางแค้นโต้ตอบกันไปมา ก็อาจจะกลายเป็นสงครามอิสราเอลกับอิหร่าน ปะทุลุกโชนอย่างเต็มตัว ซึ่งภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าใคร ก็หนีไม่พ้นตะวันออกกลาง

นอกจากภูมิภาคตะวันออกลางที่เดือดร้อนโดยตรงแล้ว เหล่านักวิเคราะห์ก็ชี้ว่า “รัสเซีย” ก็ดูจะหวั่นวิตกกังวล หากเกิดสงครามอิสราเอลและอิหร่านขึ้นมาจริงๆ ด้วยเหมือนกัน

โดรนชาเฮดรุ่นใหม่ของอิหร่าน ที่นำมาจัดแสดงในพิธีสวนสนามรำลึกสงครามอิรัก-อิหร่าน เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ก็ด้วยรัสเซีย ซึ่งยังติดพันการสงครามกับยูเครนในเวลานี้นั้น ก็ต้องพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรนทางการทหาร ที่รัสเซียใช้โดรนทางการทหารของอิหร่าน เป็นหนึ่งในอาวุธหลักสำหรับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อยูเครน

อาทิเช่น “โดรนชาเฮด” ซึ่งจัดเป็นอาวุธโจมตีแบบล่องหน คือ ยากต่อการตรวจของฝ่ายตรงข้าม และยังเป็นโดรนโจมตีแบบพลีชีพ คือ ระเบิดทำลายไปพร้อมๆ กับเป้าหมาย จนผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธหลายราย เรียก “โดรนชาเฮด” นี้ว่า “โดรนกามิกาเซ”

ทหารยูเครน ตรวจสอบชิ้นส่วนของโดรนที่กองทัพรัสเซีย ส่งเข้ามาถล่มในพื้นที่ใกล้กับกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน (Photo : AFP)

โดยถ้าหากอิหร่าน ต้องทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบกับอิสราเอล ก็เป็นการยากที่อิหร่าน จะสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรนทางการทหาร ที่อิหร่านค่อนข้างที่จะมีความเชี่ยวชาญ มาช่วยเติมเต็มให้แก่กองทัพรัสเซียเฉกเช่นเหมือนอย่างที่เป็นมา เพราะทางอิหร่าน ก็ต้องนำอาวุธมหาประลัยเหล่านี้ ไปใช้ในการสัประยุทธ์กับอิสราเอล

เหล่านักวิเคราะห์ยังมองด้วยว่า ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย ในยุคของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อย่างที่เป็นอยู่นี้ คือ “นโยบายหลายขั้วของโลก” จนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ก็ดูจะมีความสุข แฮปปี กับการชุลมุนวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลางมากกว่า เพราะทางการมอสโก สามารถขยายอิทธิพลประชันขันแข่งกับมหาอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดีกว่า แตกต่างจากสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็จะทำให้ประธานาธิบดีปูตินวิตกกังวลมิใช่น้อย จากปัจจัยตามที่กล่าวแล้วข้างต้น