หลังตั้ง “ฐานทัพ” มาได้ 67 ปีกว่า จวนจะครบ 68 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับทัพอัพเกรดกันครั้งใหญ่แล้ว

สำหรับ “ฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศญี่ปุ่น”

โดยสหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพตั้งแต่ปี 1957 (พ.ศ. 2500) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไปแล้วประมาณ 12 ปี ตาม “สนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น” ซึ่งสหรัฐฯ จะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธและลดศักยภาพกำลังทหาร ในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเหลือเพียง “กองกำลังป้องกันตนเอง” เท่านั้น

ทั้งนี้ ฐานทัพของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น ก็มีทั้งฐานทัพอากาศ ทั้งฐานทัพเรือ และมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง อาทิเช่น ฐานทัพเรือในเมืองอัตสึงิ จ.คานางาวะ

ฐานทัพเรือใน จ.โอกินาวา

ฐานทัพอากาศโยโกตะ ในเขตเทศบาลนครฟุสสะ กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น

ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในโยโกตะ กรุงโตเกียว เมืองหลวงของสหรัฐฯ ซึ่งถูกยกให้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น (Photo : AFP)

โดยฐานทัพอากาศโยโกตะ ถูกยกให้เป็น “กองบัญชาการใหญ่” ของฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฐานทัพอากาศโยโกตะแห่งนี้ ก็ยังถูกจัดให้เป็น “ฐานทัพอากาศที่ 5” ของสหรัฐฯ อีกต่างหากด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นหูชาวโลก รวมถึงชาวไทยเราเป็นอย่างดี ก็คือ ฐานทัพเรือใน จ.โอกินาวา

จ.โอกินาวา หนึ่งในที่ตั้งของฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น (Photo : AFP)

ส่วนกำลังพลของทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่น ก็มีจำนวนประมาณ 35,000 – 50,000 นาย โดยปัจจุบันก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.ท.สตีเฟน เอฟ.โจสต์

เมื่อฐานทัพถูกสถาปนามาเนิ่นนานร่วม 7 ทศวรรษอย่างนี้ ก็ได้เวลาที่จะต้องปรับทัพขยับกระบวนยุทธ์กันครั้งใหญ่ ให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

จากเดิมที่ต้องสู้รบปรบมือกับขั้วค่ายสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ตลอดช่วงหลายทศวรรษก่อน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็เปลี่ยนไปเป็นการเตรียมเผชิญหน้ากับการขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ ณ ชั่วโมงนี้แทน

เครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-15 ของกองทัพสหรัฐฯ หนึ่งในเขี้ยวเล็บที่ประจำการในฐานทัพเรือสหรัฐฯ ใน จ.โอกินาวา (Photo : AFP)

โดยแผนการปรับทัพอัพเกรดอย่างขนานใหญ่ของฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น ก็เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนแล้ว จากการที่ประธานาธิบดีไบเดน ได้หารือกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนก่อน เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2024 (พ.ศ. 2567) ก่อนที่ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมกลางปีที่ผ่านมา ถึงการปรับทัพครั้งใหญ่ต่อฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น เพื่อรับมือจีน ประเทศที่ทั้งประธานาธิบดีไบเดน และนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ตีตราให้ว่า เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง และเป็นโจทย์ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์โจทย์ใหญ่ที่สุด ณ เวลานี้เลยก็ว่าได้

ฝูงบินลำเลียงแบบลูกผสมของสหรัฐฯ ที่ประจำการในฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง (Photo : AFP)

ล่าสุด ในยุคสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็ได้ส่งนายพีต เฮกเซท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเพนตากอน เดินทางมายังญี่ปุ่น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะหารือเรื่องความร่วมมือทางการทหาร และสนับสนุนด้านความมั่นคงต่างๆ กับทางการญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น และมีนายเก็น นาคาตานิ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยรัฐมนตรีเฮกเซท ได้พูดถึงแผนการที่จะมีการปรับกระบวนยุทธ์ของฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นอย่างขนานใหญ่

นายพีต เฮกเซท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือเพนตากอน หารือกับนายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางเยือนกรุงโตเกียว (Photo : AFP)

ไล่ไปตั้งแต่อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ในปฏิบัติการสู้รบโจมตี ที่ต้องถูกพัฒนาไปจากเดิม ที่นอกจากฝูงบินขับไล่ กองเรือรบ กองเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ก็จะต้องมีระบบขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ และโดรนทางการทหาร ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่กำลังเป็นอาวุธหลัก อาวุธสำคัญในการทำสงครามสู้รบตามสมรภูมิต่างๆ หลายแห่งในโลกปัจจุบัน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นต้น

รัฐมนตรีเพนตากอน “เฮกเซท” ยังพูดถึงระบบขีปนาวุธแบบ “แอมแรม” ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากอากาศสู่อากาศ ที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ร่วมกันพัฒนาและผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่ทางสหรัฐฯ ต้องการให้มีความร่วมมือมากขึ้นไปยิ่งกว่านั้น รวมถึงการร่วมกันพัฒนาและผลิตขีปนาวุธแบบ “เอสเอ็ม-6” ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นดินสู่อากาศ

โดยขีนาวุธแบบ “เอสเอ็ม-6” ข้างต้นนั้น ทางการสหรัฐฯ ระบุจากการทดสอบประสิทธิภาพว่า มันสามารถยิงสกัดขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง หรือไฮเปร์โซนิกได้ด้วย

นอกจากนี้ แผนการอัพเกรดฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น ก็ยังรวมถึงการเพิ่มอัตรากำลังพลของทหารสหรัฐฯ ที่จะมาประจำการในญี่ปุ่นอีกต่างหากด้วย

ทั้งนี้ การอัพเกรดฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นครั้งใหญ่ตามแผนการล่าสุดของสหรัฐฯ ก็เพื่อเตรียมรับมือจีน ที่กำลังขยายอิทธิพลในพื้นที่ย่านฟากตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นั่นเอง

โดยล่าสุด กองทัพจีน ก็ได้แสดงแสนยานุภาพผ่านการซ้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวัน เพื่อข่มขวัญไต้หวัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชาติพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ดังกล่าว ก่อนหน้านั้นก็ทำให้ญี่ปุ่น ประเทศที่อยู่ใกล้กับจีน ต้องมีแผนเพิ่มงบประมาณด้านการทหารครั้งประวัติศาสตร์มาแล้วเช่นกัน เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้

พร้อมกันนี้ เจ้ากระทรวงเพนตากอน อดีตซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่กำลังพลของกองพิทักษ์รักษาดินแดนของสหรัฐฯ ก็ระบุว่า แผนการอัพเกรดฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นนั้น เป็นไปเพื่อการสร้างสันติภาพ โดยเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า อเมริกาและญี่ปุ่น พวกเราแสวงหาสันติภาพ