การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกในท่าเรือ ได้ขยายการดำเนินงานตามแนวคิด Low Carbon Port เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)

โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กร มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาดตามโมเดล BCG (Bio-Circular for Green Model) และการสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน เช่น

- โครงการ พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน เป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในระบบสูบน้ำ เพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนรอบท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมากกว่า 6 สถานี ซึ่งครอบคลุมการใช้งานได้ถึง 2,216 ครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 48,000 บาทต่อปี
 
- โครงการ “คมนาคมร่วมใจ ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ” มีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 720,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก ซึ่งการท่าเรือฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ดำเนินการปลูกต้นไม้รอบท่าเรือทั่วทุกภูมิภาค เพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังได้มอบเงินเพื่อสนับสนุนโครงการป่าสิริเจริญวรรษฯ และศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์

ทั้งนี้ การท่าเรือฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างท่าเรือสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการส่งเสริมและร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมุ่งหวังให้เกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน