วันนี้ (31 มกราคม 2567) นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) นายสุทธิพจน์ ถาวรพิศาลเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมฯ เข้าร่วมงานสัมมนา "โครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ" และร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ "การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (DC) และธุรกิจใหม่ในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือกรุงเทพฯ สู่การเป็น Smart & Green Port" โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยเรือโท ภูมิ แสงคำ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ นายแถมสิน ศรีบางพลีน้อย รองผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ คณะผู้บริหารและพนักงาน กทท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เผยว่า การศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯดังกล่าวเป็นความร่วมมือดำเนินการระหว่าง กทท และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการตลาด ที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพสามารถรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
"การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของการท่าเรือในการทำให้ กทท. เป็นประตูหลักของการค้าและการขนส่งในภูมิภาคด้วยมาตรฐานการให้บริการในระดับโลกหรือ World Class Port โดยมีนโยบายการนำแนวคิด 3T (Transshipment, Transit, Traffic) และ 2D (Digitization, Decarbonization) เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ โดยโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC (Distribution Center) เป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาหลักของท่าเรือกรุงเทพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแบบ Smart Port ที่นำเอาระบบ Automation มาใช้ในการบริหารจัดการ ,2) โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษ S1 (อาจณรงค์-บางนา) ในการแก้ไขปัญหาการจราจร และ3) โครงการศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพหรือ Bangkok Port Distribution Center"
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับภายใต้โครงการฯ นี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม.) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS และกิจกรรมของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Free Zone, Cold Chain Warehouse, E-Commerce Fulfillment Center, Last-Mile Delivery, Value Added Services, Cross-Border E-Commerce เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัตการเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการฯ จะประกอบไปด้วยกิจกรรมการให้บริการต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต