นายไพฑูรย์ ฝางคำ ประธานแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวว่า พื้นที่หมู่ 1 ต.ผักไหม ส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ เป็นข้าวนาปี ที่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ ซึ่งปัญหาหลักๆ ของการทำนาต้องรอน้ำฝน และมีการลงทุนสูง เรื่องปุ๋ยเคมี สารเคมี รวมทั้งเครื่องจักรกล จึงได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันเรียนรู้ และแก้ปัญหาในการพัฒนาอาชีพการเกษตร พอมีโครงการระบบส่งเสริมแบบแปลงใหญ่ จึงได้เข้าโครงการเมื่อปี 2559 มีสมาชิก 101 ราย พื้นที่ 1,870 กว่าไร่ โดยได้มีการเรียนรู้ พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้เกิดกระบวนการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และมีการขยายพัฒนาคุณภาพ ตรวจรับรองมาตรฐาน 


โดยกลุ่มฯ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี 600 กว่าไร่ เพื่อส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนพื้นที่ที่เหลือปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Organic Thailand และอยู่ระหว่างการต่อยอดทำมาตรฐานอินทรีย์สากลด้วย โดยแปลงข้าวที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จะนำมาแปรรูปเป็นข้าวสาร นอกจากนี้ จากกระบวนการแปรรูปข้าวสาร จะมีวัตถุดิบ เช่น ข้าวหัก ปลายข้าว ได้นำมาทำเป็นแครกเกอร์ข้าว 


ทั้งนี้ จุดเข้มแข็งของกลุ่มฯ หลังจากรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ อันดับแรกคือ แกนนำเกษตรกรมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง รวมทั้งเกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิก จะเน้นเกษตรกรที่สมัครใจ และพร้อมที่จะพัฒนา อบรม เรียนรู้ ซึ่งกลุ่มฯ มีการวางแผนในแต่ละปีว่า จะมีกระบวนการพัฒนาอะไร ซึ่งนำปัญหาที่พบมาวิเคราะห์ เช่น ข้าวที่ปลูกไม่มีคุณภาพ เราจะพัฒนาอย่างไรให้มีคุณภาพขึ้น โดยการเชื่อมโยงความรู้กับหน่วยงานภาคี แลกเปลี่ยนดูงาน เพื่อนำกลับมาพัฒนา

แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ต.ผักไหม กล่าวถึงโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ว่า เป็นโครงการฯ ที่ดี ที่จะพัฒนาสินค้าด้านการเกษตร ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับเกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของกลุ่มฯ ก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเราพร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเกษตรกร และชุมชนให้ดีขึ้น โดยสินค้าที่กลุ่มฯ ต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ คือ แครกเกอร์ข้าว เดิมแครกเกอร์ข้าว จะทำจากข้าวสาลี แต่ของเราทำจากข้าวหอมมะลิ เพราะมีคุณประโยชน์ด้านโปรตีน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย แต่สิ่งที่เราประสบปัญหาอยู่คือ ระหว่างการขนส่งให้กับลูกค้าจะแตกเสียหาย คิดว่าน่าจะมีการพัฒนาสูตรเพิ่มเติม หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดความเสียหายระหว่างการขนส่ง