วันที่ 12 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยมี ครม. ส.ส. และ ส.ว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า คณะรัฐมนตรีขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทุกคน

น.ส.แพทองธาร แถลงในประเด็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญว่า ประเทศไทยเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้าและนำพาให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

นายกรัฐมนตรี  ได้ยกความท้าทาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ สังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อการเดินหน้าบริหารประเทศ 10 ข้อ ที่จะดําเนินการทันที ดังนี้ 1. ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 2. ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs 3. เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค อัตราค่าโดยสารร่วมรองรับนโยบาย “ราคาเดียวตลอดสาย” 4. สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนําเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี และนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา อุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานของประชาชน ฯลฯ 5. เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสําคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก ผลักดัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” (Digital Wallet) ซึ่งเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ 

6. ยกระดับการทําเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ฟื้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก 7. ส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราท้ังหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า (วีซ่าฟรี) นำเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศ​ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ 8. แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

9. เร่งแก้ปัญหา อาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ และ 10. รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจให้แก่คนทุกกลุ่ม เป็นต้น



ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้แถลงเนื้อหาในนโยบายรัฐบาลซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อการวางรากฐานและฟื้นโอกาสให้กับประเทศ อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง, ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และส่งออก ซอฟต์พาวเวอร์, เศรษฐกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล ดึงดูดต่างชาติเพื่อตั้งดาต้าเซนตอร์, โรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ และวางรากฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจสีเขียว, ศูนย์กลางการเงินระดับโลก, ขยายเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์

ระบบสาธารณูปโภคคุณภาพ, พัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, การสร้างศูนย์กลางและระบบคมนาคม (Logistics Hub) ผ่านโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์, การแก้ปัญหาที่ดินทำกินด้วย One Map, จัดการคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ​ และปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อนำไปสู่การทำ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังมีแผนนโยบายเพื่อฟื้นโอกาสประเทศ อาทิ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ, OFOS ยกระดับทักษะ ปลดล็อกศักยภาพไทย, 30 บาทรักษาทุกที่ และการฉีดวัคซีนปากมดลูก, ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ, การเร่งทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น, การพื้นฟูหลักนิติธรรมและความโปร่งใส, การปฏิรูประบบราชการและกองทัพ ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทย สู่ Digital Government, การยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน เปลี่ยนรัฐปกครองเป็นรัฐสนับสนุน ลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น



ในด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งแก้ PM2.5  ฟื้นฟูธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น, ฟื้นบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง รวมถึงสานต่อการฑูตพาณิชย์เชิงรุก แก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศท้ังระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเตรียมเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลจะพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจ กับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมท้้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเพื่อตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักด์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต” นายกรัฐมนตรี กล่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้พักจิบน้ำเป็นระยะๆ