เมื่อวันที่ 12 ส.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 7/2567 ได้มีการพิจารณาการแก้กฎหมายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์รวมทั้งเร่งรัดคืนเงินผู้เสียหาย โดยมีประเด็นแก้กฎหมายเร่งด่วน ซึ่งมีข้อสรุปดังนี้ 1.การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร มีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคืนเงินผู้เสียหายได้ เนื่องจากการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด หรือ ยังติดขัดข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย

2. การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี 3.การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนร้ายหรือโจรออนไลน์ และ 4.การระงับธุรกรรมต้องสงสัยในส่วนของการใช้ซิมการ์ด หรือการสื่อสารต้องสงสัยเป็นการชั่วคราว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการแก้กฎหมายในประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาอุปสรรค ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีออนไลน์ ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวบรวมประเด็นและจัดทำร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน และการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย

“เรื่องการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมทั้งเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้นตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ ซึ่งจากการร่วมทำงานแก้ปัญหาที่ผ่านมา ยังพบปัญหาจากข้อกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการติดตามเงินและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายให้พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับมาตรการและผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ถึง 31 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา มี 8 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้

1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม (ข้อมูล ตร.)

– การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท 1-31 ก.ค. 67 มีจำนวน 2,306 ราย ลดลงร้อยละ 7.57 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567

– การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ก.ค. 67 มีจำนวน 980 ราย ลดลงร้อยละ 7.89 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567

– การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า ก.ค. 67 มีจำนวน 208 ราย ลดลงร้อยละ 13.33 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม-มีนาคม 2567

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

– ปิดโซเชียลมีเดีย และเว็บผิดกฎหมายทุกประเภท เดือน ก.ค. 67 จำนวน 16,279 รายการ เพิ่มขึ้น 7.10 เท่า จากเดือน ก.ค. 66 ที่มีจำนวน 2,294 รายการ

– ปิดเว็บพนัน ก.ค. 67 จำนวน 6,519 รายการ เพิ่มขึ้น 67.21 เท่า จากเดือน ก.ค. 66 ที่มีจำนวน 97 รายการ

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 ก.ค. 2567 มีดังนี้

– ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 920,694 บัญชี แบ่งเป็น ปปง. 451,188 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 169,506 บัญชี

4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมที่ผูกกับ Mobile Banking

ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 ก.ค. 2567 มีดังนี้

– การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 71,122 หมายเลข มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 70,704 เลขหมาย

– การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน มีดังนี้

(1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1 ล้านเลขหมาย

(2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4 ล้านเลขหมาย ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.9 ล้านเลขหมาย

– การเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย

5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

“ดีอี” เปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการสนับสนุนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนธิกำลังกับหัวเรือใหญ่ กสทช., พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS DTAC TRUE NT และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ในการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพ ซึ่งเป็น “แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ” สามารถลักลอบนำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนชาวไทยได้อีก อาทิ ตรวจยึดอุปกรณ์ ของกลางเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมเถื่อนที่ใช้ในการส่งสัญญาณข้ามแดน ยึดเครื่องมือส่งสัญญาณ STARLINK – ซิมการ์ดต่างประเทศ ตรวจยึดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ส่งสัญญาณ เป็นต้น

6. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร

กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัย กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย

7. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441

กระทรวง ดีอี ได้มีการประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ระงับบัญชีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการคดีได้รวมเร็วมากยิ่งขึ้น

8. การสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ ควบคู่กับการปราบปราม

ดีอี จับมือ 10 หน่วยงานพันธมิตร คิกออฟ “Digital Vaccine” จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย ห่างไกล “โจรออนไลน์” โดยมี 11 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ “Digital Vaccine”


#โจรออนไลน์ #บัญชีม้า #แก๊งคอลเซ็นเตอร์