วันที่ 1 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 508/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 981/2566 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2566 ไม่รับฟ้องคดีที่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยื่นฟ้อง คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4
โดยตามคำฟ้องระบุว่า คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2566 วันที่ 23 ก.พ. 2566 เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือโครงการ “วันแม็พ (One Map)” กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาจิทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2543
และเห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.อุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2524 หรือ พ.ร.ฎ.กำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 จำนวน 273,310 ไร่ ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ
และให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินตามแนวทางของ คทช. สำหรับพื้นที่ผนวกประมาณ 110,000 ไร้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป พร้อมทั้งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่เคยสำรวจเมื่อปี 2543
ต่อมา คทช. มีมติในกาปรระชุมครั้งที่ 1/2566 วันที่ 16 ม.ค. และครั้งที่ 2/2566 วันที่ 10 มี.ค. 2566 เห็นชอบแนวทางดังกล่าว ได้แก่ 1.การยึดแนวเส้นปี 2543 สำหรับใช้ในโครงการวันแม็พ และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่มีความชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เร่งรัดการสำรวจเพื่อทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลกและสภาพพื้นที่ป่าไม้ ภายหลังจาก ครม. เห็นชอบ
2.เห็นชอบการดำเนนิคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาล 3.เห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชยอยู่อาศัย-ทำกิน ตามแนวทางของ คทช. หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรแรรม แล้วแต่กรณี
สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่จะผนวกเพิ่มเป็นอุทยานประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่ง สคทช. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม. พิจารณา ต่อมา ครม. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกับมติของ คทช. ตามที่ สคทช. เสนอ ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่ง 1.เพิกถอนมติของ คทช. และสคทช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 2.เพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 วันที่ 23 ก.พ. 2566
3.เพิกถอนมติ ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ซึ่งมีมติให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. โดยใช้เส้นปรับปรุงของปี 2543 ในการดำเนินการโครงการวันแม็พ กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี 4.มีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในโครงการวันแม็พ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาจิทับลานไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
5.มีคำสั่งคุ้มครองสถานภาพอุทยานแห่งชาติทับลาน และไม่ให้มีการเพิกถอนแนวเขตอุทยาน ตามแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี ในท้องที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524
6.ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีโดยเร่งด่วนตามข้อ 48/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ในตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 เพราะหากดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติอาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ที่ยากแก่แการเยี่ยวแก้ไขในภายหลัง หรือาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากมติของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 หน่วยงานที่ที่ดินอยู่ใยความรับผิดชอบ ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับโครงการปรับปรุงแผนที่วันแม็พ ซึ่งจะใช้แผนที่ดังกล่าวแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน
และ 7.มีคำสั่งเรียกบุคคลดังต่อไปนี้ 7.1 นายประวัติศาสตร์ จันเทพ นีกวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติฯ 7.2 นายอุดมพร ศิริรักษ์ นายช่างสำรวจอาวุโส ผู้อำนวยการส่วนรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาเป็นพยาน
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริง การดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 เรื่อง การปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่าอาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกร ตามหลักของ คทช.
ซึ่งหาก 1.การกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ได้รุกล้ำ และมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในการครอบครองของผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรและผู้ยากจน 2.การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน หลักฐานการถือครองที่ดินของรัฐทุกประเภท และแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน และ 3.การเร่งแก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจนเพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องหรือมีข้อบกพร่องในการดำเนินการ รัฐบาลย่อมจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง
คดีนี้ศาลเห็นว่า มติดังกล่าวของ คทช. , คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และ ครม. ไม่มีสถานะเป็น “กฎ” ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 ที่หมายถึง พ.ร.ฎ. กฎทระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
และมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองอื่นใดที่จะอยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาบปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ
หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ดังนั้นการที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ กล่างอ้างในคำฟ้องว่า มติดังกล่าวของ คทช. , คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และ ครม. รวมทั้งการที่ สคทช. เสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณาจนมีมติข้างต้น เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเพียงการกล่าวหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา