วันที่ 28 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายมงคล สุระสัจจะ เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สองแล้วเมื่อ 27 ก.ค. ล่าสุดนั้นประธานวุฒิสภาได้นัดประชุมวุฒิสภา นัดที่ 2 ในวันที่ 2 ส.ค. นี้ โดยมีวาระพิจารณาสำคัญ คือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อปรับบางบทบัญญัติให้สอดคล้องกับจำนวน ของ สว. รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจำนวนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ และ จำนวน กมธ.ในแต่ละคณะ
ทั้งนี้น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มสื่อมวลชน และแกนนำกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกลุ่มได้หารือเพื่อเตรียมเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในส่วนของ กมธ.สามัญ และ กมธ.ที่จะมีในแต่ละคณะ โดยจากข้อบังคับการประชุมฉบับเดิม จะมีกมธ. จำนวน 26 คณะ และบวกอีก 2 คณะ ส่วนที่จะปรับแก้ไขนั้นจะปรับลดหรือเพิ่มนั้นต้องพิจารณาให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด ส่วนการกำหนดสเปคบุคคลที่จะเข้าไปเป็นกมธ.นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลังจากที่เรื่องโครงสร้างใหญ่ คือ คณะกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ
“ทางกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ ประชุมกันทุกวัน กว่าจะได้ข้อสรุปเป็นญัตติที่เตรียมไปเสนอและพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอให้สนับสนุน ทั้งนี้การเสนอญัตติใดๆ นั้นต้องมี สว.รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ซึ่งญัตติของกลุ่มเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนครบจำนวน” น.ส.นันทนา กล่าว
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอต่อการปรับรูปแบบการโหวตประธาน และรองประธานวุฒิสภาให้โปร่งใสแทนการลงคะแนนลับหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า เป็นขั้นตอนที่ประชาชนรู้สึกว่า มืดๆ หากสามารถปรับเปลี่ยนได้ จะผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และรู้สึกว่าการดำเนินงาน การทำหน้าที่ของสว. โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบ ทั้งนี้ในญัตติของกลุ่มในเรื่องแก้ไขข้อบังคับจะพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร สว.กล่าวว่า ขณะนี้มีการส่งรายละเอียดการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภามายัง สว.บางคน เพื่อขอให้สนับสนุนการแก้ไขลดจำนวนคณะกมธ. จากเดิมที่สว.ชุดที่แล้วมี 26 คณะ จะขอลดลงเหลือ 23 คณะ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประหยัดงบประมาณ แต่ตนมองว่าหากต้องการประหยัดงบประมาณควรทำส่วนอื่น เช่น ลดงบประมาณการศึกษาดูงานเป็นต้น อย่างไรก็ดีในเนื้อหาของคณะกมธ.ที่ปรับลดนั้นตนยังไม่ได้เห็นรายละเอียด จึงอยากเรียกร้องให้การทำงานร่วมกันของสว. เป็นไปด้วยยความโปร่งใส ใครเสนอร่างแก้ไขอะไร ควรให้เนื้อหามาพิจารณาด้วย
นางอังคณา กล่าวว่าสำหรับจำนวนคณะกมธ.ตนไม่ติดใจว่าจะลดหรือเพิ่ม แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสม กำหนดคณะกมธ. ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น เดิมมี คณะกมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส แต่รัฐธรรมนูญได้แยกที่มาของ สว. เป็นกลุ่มสตรีโดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาถึงการตั้งคณะกมธ. ควร ให้กลุ่มสตรี รวมกับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นกลุ่ม Gender ส่วนคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ควรเป็นอีกคณะ ขณะที่การตั้งคณะอนุกมธ. หวังว่าคนที่เป็นประธานกมธ.ในชุดนั้นจะใจกว้างให้มีผู้แทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ ร่วมเป็นอนุกมธ. เพื่อให้มีคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำงาน เพราะต้องยอมรับว่า ตัวแทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสว.
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า การเริ่มทำงานในกมธ. ต้องรอแก้ไขข้อบังคับการประชุมม ซึ่งต้องใช้เวลา 30- 60 วัน ทั้งนี้ตนมองว่ามีอีกทาง คือ เมื่อเสนอญัตติแล้วให้มีการอภิปรายเต็มสภา เพื่อเสนอความเห็นและหามติร่วมกัน แต่ทั้งนีต้องพิจารณาว่า จะเป็นไปในรูปแบบใด
เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสถึงการจองโควตาประธานกมธ.ไว้แล้ว นางอังคณา กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าใครนั่ง กมธ.ใดบ้าง เหมาะสมหรือตรงประสบการณ์หรือไม่ อย่างไรก็ดีตนมองว่าคนที่เป็นประธานกมธ.ต้องมีไดเร็คชั่นชัดเจนว่าจะทำงานไปในทิศทางไหน ดังนั้นนอกจากการเลือกมธ.ตามความสนใจแล้ว ควรพิจารณาในประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานด้วย