สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ยื่นหนังสือถึงศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหาแนวทางในการสร้างบรรทัดฐานและความเข้าใจอันดีหรือจัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอดให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล 15 ช่องอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หลังมีข่าวทีวีดิจิตอล 3-4 ช่องได้สิทธิ์ในการถ่ายทอด
ทั้งนี้ บริษัทแพลนบี อีเลฟเว่น จำกัด (Plan B Eleven) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมบริหารสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 และสิทธิ์บริหารงานทางการตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ เดนท์สุ อิงค์ (Denstu Inc.) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิ์จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยได้รับสิทธิ์แบบ all rights คือสามารถถ่ายทอดได้ในทุกแพลตฟอร์ม โดยบริษัทแพลนบีฯ ได้ไปเจรจากับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สำหรับสิทธิ์ในการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (ดิจิตอลทีวี) ก่อนที่ กกท.จะประกาศว่าได้จับมือกับพันธมิตร ให้มีการถ่ายทอดทางช่อง T Sports 7 ช่อง 9 MCOT HD ช่อง 7 HD และช่อง PPTV HD 36
อย่างไรก็ตาม กกท.ได้มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในวงเงิน 435 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด กสทช. มีวาระการประชุมที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 12 ก.ค. นี้
สำหรับหนังสือของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เรื่อง ขอแสดงความกังวลต่อการจัดหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก-พาราลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากกองทุน กทปส. มีเนื้อความดังนี้
ตามที่จะมีการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 (Olympic Games) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม -11สิงหาคม 2567 และได้มีกระแสข่าวในการดำเนินการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศไทยตามสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนั้น สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ("สมาคม") ที่ประกอบด้วยสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจจำนวน 15 สถานีมีความกังวลใจอย่างสูงต่อการนำงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 435 ล้านบาทมาเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ตามข่าวที่ออกมานั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีกว่าแหล่งที่มารายได้ของกองทุน กทปส. มาจากค่าธรรมเนียมและค่าปรับของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. ซึ่งเคยเกิดปัญหามาแล้วจากการบริหารสิทธิ์การถ่ายทอด "ฟุตบอลโลก" ครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องอยู่บนหลักการ "ทั่วถึง เท่าเทียม" ต่อสมาชิกผู้ประกอบกิจการผู้มีส่วนสัมพันธ์กับกองทุน กทปส.ทุกสถานีในการนี้ทางสมาคมจึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณาและทบทวน เพื่อหาแนวทางในการสร้างบรรทัดฐานและความเข้าใจอันดีหรือจัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอดให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หากมีการนำเงินจากกองทุน กทปส.ไปใช้ในการดำเนินการจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกตามกระแสข่าวที่ออกมา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ลงชื่อ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
นอกจากสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ได้เจรจากับ กกท. แล้ว บริษัทแพลนบีฯ ได้มีข้อตกลงขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในแพลตฟอร์มอื่นๆ กับ AIS และ True ด้วย การเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถทำตามกฎ Must Have และ Must Carry ซึ่งระบุให้ผู้รับใบอนุญาตของ กสทช. (เคเบิ้ล ดาวเทียม และ IPTV) นำเนื้อหาจากทีวีดิจิตอลไปออกอากาศด้วยได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาคล้ายกับกรณีการถ่ายทอดฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) ปี 2022 ที่ผ่านมา ที่กกท.มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นการละเมิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. จนบอร์ดกสทช.มีมติเรียกเงินสนับสนุนคืนจาก กกท. ตามผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ