วันที่ 5 กรกฎาคม 67 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ” ว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่ “ผิดช่องทาง ผิดที่ และผิดเวลา” เป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหารอย่างไม่ทราบเจตนา

พรรคก้าวไกลเคยเสนอญัตติเรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคำถามว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า ประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตังโดยตรงของประชาชน ซึ่งในครั้งนั้นที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบด้วย 262 เสียง เห็นชอบด้วยเพียง 162 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ญัตติดังกล่าวจึงตกไป ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงน่าจะจบไปแล้ว เหตุใดจึงมีการยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีของฝ่ายบริหารในครั้งนี้อีก และมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร

นายนิกร กล่าวว่า การทำประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นการดำเนินการตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน  2566 ที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

นายนิกร กล่าวว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เห็นว่าการดำเนินการก่อนได้ข้อสรุปในการตั้งคำถามประชามติ ทางคณะอนุกรรมการได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ประชาชนกลุ่มอาชีพและภาคส่วนต่าง ๆ จากประชาชน 4 ภาค นิสิต นักศึกษา รวมทั้งได้เดินทางไปรับฟังความคิดเห็นของพรรคก้าวไกล เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 และคณะอนุกรรมการฯ ได้นำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนั้นมาประมวลผล

นายนิกร กล่าวว่า ผลจากการรับฟังความคิดเห็นข้างต้นพบว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ที่ยังคงไว้ตามเดิม คณะอนุกรรมการจึงนำเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาคำถามประชามติ โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า การตั้งคำถามประชามติโดยไม่มีเงื่อนไขการไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่มากกว่า เนื่องจากอาจมีพรรคการเมืองบางพรรคกล่าวอ้างว่า ประชาชนเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อันจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และอาจมีความเคลื่อนไหวที่ทำให้การทำประชามติไม่ผ่าน หรือที่ร้ายแรงกว่าคืออาจเกิดเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญดังเช่นเหตุการณ์เมื่อปี 2535 อันจะนำมาซึ่งความรุนแรงนำไปสู่ความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมการฯ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาคำถามประชามติที่มีความเหมาะสมแล้ว

นายนิกร กล่าวว่า ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบคำถามประชามติในครั้งที่ 1 ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอนอกจากนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของนิด้าโพลที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ซึ่งนั่นเป็นการยืนยันความถูกต้องของคำถามอีกทางหนึ่งด้วย

นายนิกร กล่าวว่า เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการยื่นผิดช่องทาง ผิดที่แล้ว ยังเป็นการก้าวก่ายหน้าที่และอำนาจ ของฝ่ายบริหารอันชอบด้วยกฏหมายที่เสนอให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 และเป็นการยื่นญัติติที่ผิดเวลา เนื่องจากการจัดให้มีการออกเสียงประชามติจะดำเนินการเมื่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการออกเสียงประชามติแล้ว  แต่ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงเชื่อว่าประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไม่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าวเหมือนกับที่เคยมีมติในญัติทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว