วันที่ 3 ก.ค.67 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท - คุยการเมือง" ระบุว่า....
ชาญ พวงเพ็ชร์ หยุดปฎิบัติหน้าที่ ใครรับผิดชอบ? ขอให้ดูกรณี ผู้ว่าฯอภิรักษ์ โกษะโยธิน เทียบเคียง
กรณีที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. ประทุมธานีและอยู่ในระหว่างถูก ปปช.ชี้มูลความผิด และฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลประทับรับฟ้องแล้ว ซึ่งจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกอบจ. ปทุมธานี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา เมื่อกกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว นายชาญ พวงเพ็ชร์ ก็จะดำรงตำแหน่งนายกอบจ. ปทุมธานี แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกอบจ.ได้ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายต่อการบริหารงานของ อบจ.ปทุมธานีซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบในการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ทั้งจังหวัดโดยตรง
เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ สังคมต้องตั้งคำถามว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ระหว่างนายชาญ พวงเพ็ชร์ กับพรรคเพื่อไทย ที่มีมติส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค และประเด็นดังกล่าว ทำไมไม่มีการนำข้อเท็จจริงมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวจังหวัดปทุมธานีหรืออย่างไร โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ไม่ได้ปราศรัยอธิบายว่า ถ้าเลือกนายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นนายกอบจ. ปทุมธานีแล้ว ผลที่เกิดขึ้นทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร ทำไมมีการปกปิดความจริงกันทุกฝ่าย
การที่ชาวจังหวัดปทุมธานี เลือกนายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นนายกอบจ.ไม่ต่างอะไรกับการซื้อรถยนต์มาหนึ่งคัน แต่ถูกอายัดไว้ไม่สามารถใช้ขับขี่ได้ ซึ่งเป็นการเสียเงินเปล่า ไม่ได้ใช้งาน เช่นเดียวกันกรณีของนายชาญ พวงเพ็ชร์ เลือกเข้ามาแล้ว ไม่สามารถทำงานให้กับประชาชนได้
แม้ว่าจะมีแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาปกป้องว่า ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อัตโนมัติ เหตุศาลยังไม่ได้สั่ง กกต.ไม่ได้ฟันขาดคุณสมบัติ ส่วนความเห็นของเลขาธิการคณะกฤษฎีกาไม่ใช่ต้องทำตามทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ที่คนในรัฐบาลไม่ยอมฟังรับความเห็นและปฎิบัติตามคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลเอง
ขอยกตัวอย่างกรณีนายอภิรักษ์ โกษะโยธินได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยที่2 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2551 เมื่อถูก ปปช.ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง โดยยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเลย นายอภิรักษ์ก็ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นผู้ว่าฯกทม.ทันที ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่ากทม และเรื่องมาสำเร็จในสมัยนายอภิรักษ์เป็นผู้ว่าสมัยแรก ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับกรณีของนายชาญ พวงเพ็ชร์ได้ เพียงแต่มาตรฐานจิตสำนึกและความรับผิดชอบทางการเมืองของพรรคที่สังกัดแตกต่างกัน
ในทางการเมืองพรรคเพื่อไทยในฐานะต้นสังกัด และเป็นผู้อนุมัติส่งให้นายชาญ พวงเพ็ชร์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรค จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อชาวจังหวัดปทุมธานี