วันที่ 19 มิถุนายน 67 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีและกล่าวปาฐกถาพิเศษ สัมมนาวิชาการหลักสูตรผู้บริหาร 6 สถาบัน ในหัวข้อ “สานพลังลดความเหลื่อมล้ำนำไทยยั่งยืน” (Driving Thailand's Equality and Sustainability)  โดย วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ( วปอ.) รุ่นที่ 66 เป็นเจ้าภาพ ที่ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดยเป็นความร่วมมือ ของ1. หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม วิทยาลัยการยุติธรรม 2.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า 3.หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  4. หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

5. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) สถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 6. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน(วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่แลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการระหว่างผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 6 หลักสูตร และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน โดยเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิชาการในมิติของเศรษฐกิจ การค้า สังคม ความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม อันจะช่วยให้เกิดพลังแห่งการพัฒนาประเทศชาติและสังคมไทยอย่างยั่งยืน

นายสุทิน ปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า เมื่อมาเป็น รมว. กลาโหม ทำให้เห็นชัดว่าภัยคุกคามเปลี่ยนไป เดิมเราคิดเรื่องกองกำลังทหาร อาวุธ การรุกล้ำดินแดน แต่วันนี้ภัยคุกคามที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ทั้งนี้ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดมากถึง12 -13% ยุคนั้นกลับเหลื่อมล้ำมากที่สุด เราสร้างเศรษฐกิจแข็งแรง สร้างการขยายตัวที่มากพอแต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก

“ผมไม่ต้องการเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงมาก แต่ต้องการให้กระจายโอกาสและทรัพยากรที่ได้มาให้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน กูรูทางเศรษฐกิจในประเทศเรามีเยอะ  เขาเก่งเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัวแต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ  การสร้างโอกาสการศึกษา การสร้างรายได้ และสาธารณสุขได้”

นอกจากนั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านความยุติธรรม การเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทรัพยากรซึ่งมีหลายมิติ สุดท้ายคือตะกอนที่ตกลงมาคือความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และการถือครองทรัพยากร จะเห็นได้ว่า 20 คนในประเทศ ถือครองทรัพยากรถึง 80% และยังถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ  ในขณะที่ประชาชนไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อีกทั้งที่ดินจากคนจนก็จะไหลมาที่คน 20% ปัญหาเหล่านี้หนักเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเป็นภัยกับความมั่นคงทางความเลื่อมล้ำไปไม่หยุดก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง

“ผมไปฝรั่งเศส ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ เขาอธิบายเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งหนักหน่วงมาก พระเจ้าแผ่นดินถูกเครื่องกีโยตินตัดคอ  คนจนลุยเข้าพระราชวัง จริงๆก็คือความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ เอาเป็นว่าความเหลื่อมล้ำรุนแรงและอันตรายซึ่งมีท่าทีไม่หยุดหย่อนในบ้านเรา เคยมีการจัดอันดับว่าประเทศไทยคือติดอันดับสูงสุดด้วย  ผมไปนั่งคิดว่าจะปรับแก้ตรงไหนก่อนเพราะเหลื่อมล้ำทุกตัวเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน อย่างไรก็ตามก็ฝากให้ทุกคนช่วยคิด”

นายสุทิน กล่าวด้วยว่า ช่วงปี 2557 หลังรัฐประหาร มีการจัดลำดับเศรษฐี  พบว่า อันดับที่หนึ่งของประเทศมีทรัพย์สินรวมกันอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท มาสำรวจในปี 2562อีกครั้ง พบว่าเศรษฐีรายเดิมมี 9แสนล้านบาท ปีต่อมาก็เป็นล้านล้านบาท เศรษฐีอันดับที่สอง และสามก็รวยขึ้น เป็นเพราะโครงสร้างการเมืองเปลี่ยนไปทำให้ความเหลื่อมล้ำตรงนี้สูงไปด้วย  แต่เมื่อสำรวจหนี้สินครัวเรือนกลับสวนทางคือดิ่งลง ถึงเวลาแล้วที่จะคิดว่า จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำอะไรก่อนระหว่าง “โง่ จน เจ็บ”เพราะเป็นวงจรที่หมุนกันอยู่ตรงนี้ หรืออาจจะต้องแก้ทุกอย่างไปพร้อมกัน ผลการสัมมนาวันนี้ เราก็จะนำไปใช้ เพราะเป็นความรู้จากคนที่มีประสบการณ์ ร่วมกันคิด