ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" เพื่อสนับสนุนและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่กำลังเริ่มปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 16 ล้านคน ภายใต้โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงิน 29,994.3445 ล้านบาท ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 (ครั้งที่ 2/2567 ) โดยจะใช้จ่ายจากเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายการดำเนินโครงการฯ จำนวน 29,532.195 ล้านบาท และมอบหมายกรมการข้าวจัดทำข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการและงบประมาณ ภายหลัง นบข.มีมติดังกล่าวมีพี่น้องภาคประชาสังคมหรือมูลนิธิรวมถึงนักวิชาการได้วิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้าน โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" อย่างกว้างขวางปรากฏตามสื่อสาธารณะทั่วไปนั้น
วันที่ 14 มิ.ย.67 นายจารึก กมลอินทร์ ประธานกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ได้ ออกถ้อยแถลงกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ แสดงจุดยืนสนับสนุนโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” โดยระบุว่า...
ผมในฐานะประธานกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เห็นว่าโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" เป็นมาตรการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรในระยะสั้นที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยสนับสนุนปุ๋ยที่เหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในรูปแบบ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าถึงปัจจัยการผลิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้นั้น เป็นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านเกษตรที่ดี ศูนย์ข้าวชุมชนฯ และภาคีเครือข่ายด้านการเกษตรยินดีสนับสนุนแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง
ซึ่งการที่ นบข.มีมติเห็นชอบในหลักการ โดยปุ้ยที่เข้าร่วมโครงการเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพ.ร.บ.ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน เบื้องต้นจำนวน 16 รายการ และจำนวน 16 รายการประกอบด้วยปุ๋ยเคมี 14 สูตร และปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภัณฑ์ที่ควบคุมโรคพืชได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตขึ้นทะเบียนเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์อย่างถูกต้อง มากถึง 245 ราย
กรณีพี่น้องภาคประชาสังคมหรือมูลนิธิรวมถึงนักวิชาการได้วิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้าน โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" อย่างกว้างขวาง ผมขอชื่นชม เคารพ เห็นด้วยกับเหตุผลและความห่วงใยของทุกๆ ท่านที่มีต่อพี่น้องชาวนา แต่ผมมีความเห็นต่างด้านการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) จากทุกๆท่าน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1) โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" มีวัตถุประสงค์หลัก " เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว" เงื่อนไขโครงการฯ กำหนดว่า " เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์สำหรับนาข้าวและชีวภัณฑ์ที่ขึ้น ทะเบียนสำหรับนาข้าว จำนวน 16 รายการ" รัฐบาลหาได้อุดหนุนเฉพาะปุยเคมีเท่านั้น แต่กลับเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนและพี่น้องชาวนา จะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยกระบวนการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ที่มีความห่วงใยพี่น้องชาวนาและกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และสิ่งแวดล้อม ควรฉวยโอกาสนี้หันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การสร้างความคิดเชิงวิสัยทัศน์(Visionary Thinking) และการสร้างแผนทางเลือก (ScenarioPlanning)ภายใต้ภาวะความผันผวนของสภาพแวดล้อมปัจจุบัน โดยมีเป้าหมาย ลดต้นทุน ลดภาระหนี้ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ให้แก่พี่น้องชาวนาทั้งประเทศ
2) ประเด็นความห่วงใยและกังวลต่อการที่ รัฐบาลดำเนินการอุดหนุนปุ๋ยเคมี ทำให้มีเงินภาษีของรัฐไหลเข้าบริษัทปุยเคมี นั้น ดังที่กล่าวไว้ตามข้อ 1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์สำหรับนาข้าวและชีวภัณฑ์ที่ขึ้น ทะเบียนสำหรับนาข้าวจำนวน 16 รายการ รัฐบาลดำเนินการอุดหนุนปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช่เฉพาะปุ๋ยเคมีเท่านั้น แม้จะถูกมองว่าทำให้มีเงินภาษีของรัฐไหลเข้าบริษัทปุ๋ยเคมี แต่ในอีกด้าน มุมมองด้านทฤษฎี การเปลี่ยนอำนาจซื้อปุ๋ยไปสู่ชาวนาโดยตรงแบบคนละครึ่ง (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) ผ่านสหกรณ์การกษตรและเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ จะทำให้เกษตรกรจะมีเงินกึ่งหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในการดำรงชีพ ความคาดหวังคือการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมโดยให้การใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นทอด ๆมูลค่าที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจจะมีค่ามากกว่าเม็ดเงินที่ รัฐบาลอัดฉีดลงไป ผลของตัวคูณ(Multiplier effect) จะทำให้เศษฐกิจรากหญ้าขยายตัวอันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะชะงักงันในปัจจุบัน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าทำให้มีเงินภาษีของรัฐไหลเข้าบริษัทปุ๋ยเคมี
3) หลายๆ ฝ่ายมองว่าเป็นช่องทางทุจริตจากการวิ่งเต้นขายปุ๋ยที่มีวงเงินในตลาดปุ๋ยกว่า 60,000 ล้านบาท นั้น ผมกลับเห็นว่าหน่วยดำเนินการกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์คือ สหกรณ์การเกษตรหรือเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งมีมากกว่า 3,990 แห่ง และการทำธุรกิจจัดหาปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตรต่างๆ เป็นการประกอบธุรกิจปกติ อีกทั้งราคาจำหน่าย เป็นราคาควบคุมซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีรองอธิบดีกรมการข้าวเป็นประธาน และกำหนดให้จำหน่ายปุ๋ยราคาเดียวกันในแต่ละสูตรแต่ไม่เกินราคาควบคุม ผมยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า สหกรณ์การเกษตรเป็นองค์กรธุรกิจหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถในการดำเนิน การผลิต การจำหน่ายผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะรวมกันซื้อรวมกันขาย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทั้งการรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต และการรวมกันขายผลผลิต ดังนั้นเอกชนผู้ผลิตปุ๋ยทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์จะต้องการเสนอราคาจำหน่ายปุ๋ยถูกกว่าตลาด อันจะส่งผลดีต่อพี่น้องชาวนาที่จะได้ซื้อปุ๋ยราคาถูกกว่าตลาดและจ่ายเงินซื้อเพียงครึ่งเดียว
ในการนี้ผมในฐานะประธานกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ของรัฐบาล และขอเรียกร้องให้หน่วยงานผู้รับผลิตชอบโครงการฯ กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตและบทลงโทษ เพื่อควบคุม กรณีเกษตรกรไม่นำปุ๋ยหรือชีวภัณฑ์ไปใช้ในการผลิตข้าวจริง แต่นำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้แก่บุคคลอื่น