วันที่ 13 มิ.ย.เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา นายยุทธพร  อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ถึงความเห็นของ อนุกมธ.ฯ ที่ต้องการให้คณะกรรมการนิรโทษกรรม ควรเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า เราเคยได้เสนอเป็นตัวแบบ 2 ทางเลือก คือ 1.ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ และ 2.ให้ประธานสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ แต่กมธ.วิสามัญฯ  ชุดใหญ่ มีความเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดเราจึงมีการปรับเปลี่ยน และให้น้ำหนักว่ายังคงเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักในการมีบทบาทนำ โดยให้ประธานสภาฯเป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายกฯหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ

นายยุทธพร กล่าวต่อว่า โดยมีเหตุผล 3 ประการ คือ 1.ฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเป็นอำนาจที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะมาจากการเลือกตั้ง 2.อำนาจนิติบัญญัติ ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลายในสภาฯ จึงมีความเป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าฝ่ายบริหาร และ 3.กลไกตรวจสอบและติดตามกระบวนการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเราได้เสนอไป 2 กลไก คือ กลไกตรวจสอบเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการฯ ต้องมีเป้าหมายในการทำงาน ทุก 6 เดือน และเสนอต่อสภาฯ เพื่อพิจารณา

เมื่อมีการรายงานแล้ว ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องมีการจัดทำรายงานชี้แจงต่อสภาฯ และมีการเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย และกลไกตรวจสอบความโปร่งใส เสนอให้ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือประชาชน ไม่น้อยกว่า 1,000 คน สามารถเข้าชื่อได้ หากพบว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น จะต้องมีการจัดทำรายงานสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงโดยสภาฯ เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงต้องอาศัยกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบคณะกรรมการฯ ชุดนี้

“ในการประชุมกมธ.ฯชุดใหญ่วันนี้(13 มิ.ย.) จะมีการสรุปข้อเสนอทั้ง 7 ข้อที่อนุ กมธ.ฯ เสนอไป แต่ในกมธ.ฯชุดใหญ่ ต้องพิจารณาในประเด็นต่างๆ ว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเห็นชอบไปเพียง 3 เรื่อง ผมจึงคิดว่า กมธ.ฯชุดใหญ่จะรับทั้งหมด แต่จะฟังทั้งหมดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กมธ.ฯ” นายยุทธพร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีเว็บไซต์ของรัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ผลปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า ทาง กมธ.ฯจะปัดตกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมือง เป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯ ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปปัดตกร่างใดๆ ทั้งสิ้น แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอ ก็จะถูกหยิบไปเสนอต่อสภาฯ ซึ่งสภาฯก็มีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ จะฟังทั้งหมด หรือจะฟังแล้วนำแค่เพียงบางส่วนไปใช้ เพื่อไปผนวกกับร่างกฎหมายก็ได้ โดยร่างทั้งหมดที่ถูกเสนอเข้าสภาฯขณะนี้ สภาฯก็มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกัน หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลย แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ได้ 

“ทั้งนี้ผมเห็นว่าสภาฯควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และต้องทำความเข้าใจว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด เนื่องจากคนมักจะหยิบไปโยงเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองว่า จะไปช่วยคนนั้นคนนี้เป็นพิเศษ หรือยกเว้นความผิด แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง นักการเมือง หรือคนที่เป็นตัวแสงในทางการเมืองเท่านั้น แต่เกี่ยวกับสังคมในภาพรวมด้วย เพราะท้ายที่สุดมันคือเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของสังคมไทย” นายยุทธพร กล่าว