วันที่ 29 พ.ค.67 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน (ดินเปรี้ยว) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณคลองชวดทอง และคลองทิวา รวมถึงดำเนินการขุดลอกคลอง และกำจัดวัชพืชที่ขีดขวางช่องทางน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน อีกทั้ง ได้รับฟังบรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบน้ำฝายท่าลาดเพื่อการกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ครอบคลุมพื้นที่อําเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น อำเภอบางคล้า อำเภอแปลงยาว และอำเภอบ้านโพธิ์ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรดิน (ดินเปรี้ยว) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการสำรวจและวิเคราะห์ชุดดินในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ ปูนขาว ปูนมาร์ล เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติและโครงสร้างดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูก พร้อมทั้ง ส่งเสริมการใข้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในการทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินให้มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ ได้มอบโฉนดเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกร จำนวน 70 ราย รวมถึงปัจจัยการเกษตร อาทิ เมล็ดพันธุ์ปอเทือง กระเป๋าวิเคราะห์ดิน (E-Service) อีกด้วย

รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ทางการเกษตรค่อนข้างมาก และกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดฉะนั้นปัญหาที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจคือการหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่และการเติมแหล่งน้ำต้นทุนเดิมให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร สำหรับปัญหาด้านทุนต้นการผลิตราคาสูง หรือปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ได้มารับฟังจากพี่น้องเกษตรกรในวันนี้ ในนามตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการวางแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต่อไป

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ เดินทางต่อไปยังวัดจระเข้ตาย อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงอาคารบังคับน้ำที่ 1 (ประตูระบายน้ำบ้านบางคา) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างประตูระบายน้ำ ขนาด 6.00 x 6.00 เมตร จํานวน 5 ช่อง พร้อมกล่าวย้ำ ว่า ประตูระบายน้ำบ้านบางคาเป็นประตูระบายน้ำที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอราชสาส์น และพื้นที่ใกล้เคียงจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องเกษตรในพื้นที่ ต่อไป