วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เรื่อง (ร่าง) แผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2567 – 2571) และทิศทางความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับการใช้งาน 5G Private Network โดยมี รองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นประธานในพิธี และนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้กล่าวรายงาน 

รองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2568 และปี พ.ศ. 2570 คลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรภายในประเทศไทย สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล จะสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้งาน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ในการนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการศึกษาความความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่ โดยใช้หลัก Spectrum Demand Model Using Mobile Traffic ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความต้องการใช้คลื่นความถี่ และปริมาณ Traffic ของการรับส่งข้อมูล จากผลการศึกษาพบว่า ความต้องการต่อการใช้งานคลื่นความถี่ (Spectrum Demand) สำหรับคลื่นความถี่ย่านต่ำและคลื่นความถี่ย่านกลาง ปี พ.ศ. 2572 จะมีความต้องการที่ 739 MHz ในขณะที่ปัจจุบันมีคลื่นความถี่ใช้งาน จำนวน 620 MHz และจะหมดอายุปีใน พ.ศ. 2568 จำนวน 120 MHz ดังนั้น เพื่อให้มีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการใช้งานจึงต้องนำคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาตในปี พ.ศ. 2568 และปี พ.ศ. 2570 รวมถึง คลื่นความถี่ที่รอการจัดสรรอยู่มาจัดสรรใหม่

สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2567 – 2571) เบื้องต้น ได้พิจารณาแบ่งคลื่นความถี่เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) คลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาต 2) คลื่นความถี่ที่ว่างและรอการจัดสรร 3) คลื่นความถี่ที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดสรร 4) คลื่นความถี่ที่กำลังศึกษา และได้จัดทำกรอบระยะเวลาเบื้องต้น  ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย โดยเตรียมจัดสรรคลื่นในกลุ่มที่ 1) และ 2) ในปี พ.ศ. 2568 ประกอบด้วย 6 ย่านความถี่ ดังนี้ 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz

ส่วนคลื่นความถี่ย่านอื่น ๆ และทิศทางความต้องการการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network นั้น นอกจากจะต้องมีการศึกษาถึงความพร้อมของระบบนิเวศทั้งในและต่างประเทศ (ในย่านความถี่3500 MHz และ 4800 MHz) ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการปรับปรุงคลื่นความถี่มาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลด้วย ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 28 GHz นั้น จำเป็นต้องศึกษาการใช้ร่วมกัน ระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลและกิจการดาวเทียมเฉพาะส่วน GSO Gateway และ NGSO Gateway ก่อนได้รับการจัดสรร