วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ Government Security Program (GSP) มุ่งสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีผ่านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับประเทศไทย พร้อมสานต่อการทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับไมโครซอฟท์

สำหรับ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ฯ ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึง การสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกัน เพื่อให้มีการดำเนินการเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการและเป็นปัจจุบัน ตลอดจนดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองส่วนบุคคล และดำเนินการฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เผยว่า ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการ GSP นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกระหว่างกัน ทั้งในด้านการทำงานของผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาการของภัยไซเบอร์ล่าสุด และอื่น ๆ จะช่วยให้รัฐบาลไทยมีข้อมูลสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีของบริษัท รวมถึงการดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดความร่วมมือนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมกันทำการวิเคราะห์และพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้งานภายใน สกมช. ด้วยเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรอบตัวเรา ไมโครซอฟท์เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อน เพราะหากผู้ใช้ไม่สามารถไว้วางใจในเทคโนโลยีได้ ก็คงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นได้ ซึ่งการทำงานด้านความปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทุกภาคส่วน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และมั่นใจว่าความร่วมมือกับ สกมช. ในครั้งนี้จะเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สอดรับกับนโยบาย Cloud First ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการนำคลาวด์มาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรต่าง ๆ มากมายจากเครือข่ายและทีมผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการ GSP นี้ จะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจสูงสุด ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ Government Security Program (GSP) เป็นโครงข่ายความร่วมมือระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ด้วยจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนรัฐบาลของชาติต่าง ๆ และองค์กรภาครัฐในระดับนานาชาติให้สามารถปกป้องบุคลากร ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานจากภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น GSP นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟท์และภาครัฐ ภายใต้กรอบกฎหมายและการดำเนินงานหนึ่งเดียวที่ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นทางเทคโนโลยีได้ดีขึ้น โดยปัจจุบัน โครงการนี้ครอบคลุมความร่วมมือในกว่า 40 ประเทศและ 100 องค์กรระดับนานาชาติ

ภายใต้ข้อตกลงนี้ สกมช. และไมโครซอฟท์ จะเดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับภัยคุกคามความปลอดภัย ช่องโหว่ พฤติกรรมผิดปกติ ข้อมูลมัลแวร์ และประเด็นสำคัญด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ และในอนาคต ทั้งสองฝ่ายยังอาจพิจารณาขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมการเข้าถึงเอกสารทางเทคนิคหรือซอร์สโค้ดจากผลิตภัณฑ์และบริการของไมโครซอฟท์ หรือดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์เอกสารทางเทคนิคและซอร์สโค้ดอย่างละเอียด ณ ศูนย์ปฏิบัติการด้านความโปร่งใส (Transparency Center) ของไมโครซอฟท์ 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ บราซิล และจีน พร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์และ สกมช. ยังจะร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทักษะในการกำกับดูแลการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับ Copilot for Security และการใช้งาน AI เพื่อสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและบุคลากรที่มีรับผิดชอบการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure – CII)