วันที่ 12 พ.ค.ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบกากแคดเมียม ก่อนเคลื่อนย้ายไปจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง-ทำหนังสือสอบถาม 13 หน่วยงานรัฐ ขอตรวจสอบหาต้นตอการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีออกนอกพื้นที่ เล็งดำเนินคดีพิเศษ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการขนกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตากไปยังจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่อื่นอันอาจมีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหนึ่งในหกหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการและทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว
ล่าสุด พันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ นายทัชชกร อรรณพเพ็ชร รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน พร้อมคณะพนักงานสืบสวน ลงพื้นที่จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6 – 8 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบวิธีการขนย้ายกากแคดเมียมเข้าโรงพักคอยและตรวจสอบพื้นที่ของโรงพักคอย โรงเก็บกากแคดเมียมสำรอง บ่อฝังกลบที่ 4 และบ่อฝังกลบที่ 5 ของบริษัท ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กอ.รมน.จังหวัดตาก ปลัดอำเภอเมืองตากและผู้นำชุมชน อีกทั้งได้ประสานงาน รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเรียกร้องจากแกนนำประชาชนและผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการขนย้ายและการฝังกลบกากแคดเมียมในพื้นที่จังหวัดตาก ตลอดจนตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตให้ขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีออกจากบริษัท ที่ จ.ตาก ซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบ ไปยังบริษัท จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งได้มีหนังสือขอตรวจสอบข้อมูล โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว จำนวน 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เป็นต้น
หลังจากนี้ คณะพนักงานสืบสวน กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้นำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากประชาชนในพื้นที่ รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม คณะกรรมการทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียม และคณะกรรมาธิการติดตาม และตรวจสอบการแก้ไขปัญหากากแคดเมียม เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวต่อไป รวมทั้งพิจารณาว่าเข้าข่ายลักษณะความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบความผิดจะสอบสวนเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป