ถือเป็นม็อบที่จุดติด เป็นกระแสฮิตข้ามทวีปกันไปแล้ว

สำหรับ ม็อบนักศึกษาที่ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยที่ตนศึกษาอยู่ เป็นสถานที่เวทีแสดงออกถึงการต่อต้านอิสราเอลในการทำสงครามในฉนวนกาซา พร้อมๆ กับการแสดงพลังสนับสนุนต่อชาวปาเลสไตน์ ที่พำนักอาศัยในฉนวนกาซา ดินแดนที่กลายเป็นสมรภูมิเลือด ละเลงเดือด ตลอดช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา

กระทั่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็น “ปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษา” ไปเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นข้ออ้างการชุมนุมประท้วงดังกล่าว ก็มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่

เพื่อต่อต้านที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้การสนับสนุนต่ออิสราเอล เป็นประการต่างๆ รวมถึงอาวุธสงครามที่ใช้เพื่อการประหัตถ์ประหารในสงครามฉนวนกาซา

เพื่อต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

และเพื่อประท้วงที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ลงทุนในอิสราเอล รวมถึงในทางกลับกันก็ต่อต้านที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ หลายแห่งได้รับสนับสนุนจากกลุ่มทุนชาวยิวโดยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในการชุมนุมข้างต้น ก็มีนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ได้รวมตัวแสดงพลังสนับสนุนต่ออิสราเอลก็มีเช่นกัน

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียจำนวนหนึ่ง แสดงการสนับสนุนต่ออิสราเอล (Photo : AFP)

โดยปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษาดังกล่าว ก็เริ่มจากการชุมนุมของเหล่านักศึกษา “มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย” ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นปฐม

เรียกว่า การยึดครองพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University Campus Occupation)

การชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ที่ ถึง ณ ชั่วโมงนี้ ม็อบนักศึกษาก็ยังคงปักหลักประท้วงกันอยู่ โดยได้กางเต็นท์ เพื่อใช้เป็นพักค้างอ้างแรมกันแบบยาวๆ เลยทีเดียว ไม่สนใจว่า ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักการเรียน การไม่อนุมัติให้จบในภาคการศึกษา รวมไปถึงขั้นไล่ออก สำหรับ ม็อบนักศึกษาที่ทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯ ทว่า ก็หาได้หยุดยั้งสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุมของเหล่านักศึกษาไม่ โดยม็อบนักศึกษายังคงเดินหน้าการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง

แถมมิหนำซ้ำ การชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ แทบจะทั่วประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐทางฟากตะวันออก อย่าง “มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด” ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ลามเลยไปยังรัฐทางฝั่งตะวันตก เช่น “มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส” หรือ “ยูซีแอลเอ” ซึ่งตั้งอยู่ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

สถานการณ์ชุมนุมประท้วง ยังได้บานปลายจากชุมนุมอย่างสงบ กลายเป็นความรุนแรง จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทางมหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือในการจัดการม็อบนักศึกษา จนทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน ในจำนวนต้องถึงขั้นเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกือบ 30 คน และมีผู้ถูกตำรวจจับกุมไปกว่า 2,700 คน

นอกจากปรากฏการณ์ม็อบ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกองไฟลุกลามเผาไหม้พื้นที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ แล้ว ไฟม็อบข้างต้น ก็ยังลามเลยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปเผาไหม้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ แทบจะทั่วภูมิภาคยุโรปไปแล้วด้วย

โดยมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรป ที่กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ม็อบต่อต้านสงครามฉนวนกาซาดังกล่าว ได้แก่

ในประเทศเยอรมนี ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปดูแลจัดการม็อบภายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยกัน เช่น “มหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน” ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศ โดยทางสำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฯ แถลงว่า จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจัดการกับม็อบ เนื่องจากทางกลุ่มนักศึกษาผู้ชุมนุมได้ปฏิเสธที่จะเจรจาด้วยในทุกกรณี นอกจากนี้ ได้มีม็อบนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ได้บุกเข้าไปในอาคารและห้องเรียนต่างๆ อีกด้วย นอกเหนือจากกางเต็นท์เพื่อปักหลักชุมนุมแบบอยู่ยาว

   ตำรวจเยอรมนี ปะทะกับม็อบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน ซึ่งชุมนุมประท้วงสงครามฉนวนกาซา และแสดงการสนับสนุนต่อปาเลสไตน์ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ได้เกิดการปะทะกันระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนตำรวจต้องใช้สเปรย์พริกไทยฉีดใส่เพื่อสลายการชุมนุมดังกล่าว แต่ก็สลายได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่เหล่านักศึกษาหวนกลับมารวมตัวกันใหม่

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปรากฏว่า กลุ่มนักศึกษา “มหาวิทยาลัยแห่งอัมสเตอร์ดัม” ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งปรากฏว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาจัดการ จนถึงขั้นใช้กระบองเป็นอาวุธสำหรับทุบตีนักศึกษาผู้ชุมนุม พร้อมทำลายแนวกั้น รวมถึงรื้อเต็นท์ของม็อบนักศึกษา โดยมีรายงานว่า ม็อบนักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปราว 125 คนอีกด้วย

ม็อบนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เตรียมเสบียงอาหารและน้ำดื่ม สำหรับการชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัย (Photo : AFP)  

ประเทศฟินแลนด์ ที่ม็อบนักศึกษา ซึ่งตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มนักศึกษาเพื่อสมานฉันท์ปาเลสไตน์ ได้ยึดพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแห่งเฮลซิงกิ กรุงเฮลซิงกิ ปักหลักชุมนุมประท้วง พร้อมทั้งประกาศให้คำมั่นว่า จะชุมนุมประท้วงไปจนกว่ามหาวิทยาลัยแห่งเฮลิซิงกิ ตัดสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอิสราเอลแล้ว

ประเทศเดนมาร์ก ทางกลุ่มม็อบนักศึกษาได้กางเต็นท์ถึง 45 หลัง ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวง โดยม็อบนักศึกษาได้ชุมนุมประท้วงกันอย่างสงบ และทางมหาวิทยาลัยฯ ก็ประกาศว่า นักศึกษาสามารถประท้วงได้ตราบเท่าที่ยังเคารพในกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอยู่

ประเทศอิตาลี ได้มีม็อบนักศึกษาชุมนุมในมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยกัน ทั้งที่มหาวิทยาลัยในกรุงโรม เมืองหลวงประเทศ มหาวิทยาลัยในนครเนเปิลส์ รวมไปถึงที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยการชุมนุมประท้วงในอิตาลีนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างสันติ

นักศึกษามหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส เดินขบวนแสดงพลังสนับสนุนต่อปาเลสไตน์ (Photo : AFP)

ประเทศฝรั่งเศส ปรากฏว่า ม็อบนักศึกษาได้ปะทุขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึง 23 แห่ง ในหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นในกรุงปารีส เมืองหลวง เมืองลียง และเมืองลีล์ เป็นต้น ซึ่งมีบางแห่งได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือไม่ก็ตำรวจนำตัวนักศึกษาออกจากพื้นที่ชุมนุมด้วย

ม็อบนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ชุมนุมสนับสนุนต่อปาเลสไตน์ (Photo : AFP) ​​​​​​​

ประเทศอังกฤษ ก็มีม็อบนักศึกษา ปักหลักชุมนุมประท้วงในพื้นที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยกัน รวมถึงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อันเลื่องชื่อ