วันที่ 9 พ.ค.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ตอบข้อหารือเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561  ที่กำหนดว่าห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งหากเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หรือเจ้าของเว็บไซต์  หรือยูทูบเบอร์ หรือเจ้าของช่อง TiKTok  หรือเจ้าของช่องโซเชียลอื่นๆ จะถือว่าเข้าข่ายข้อห้ามตามมาตรานี้หรือไม่ จะถือว่าเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่
 
สำนักงาน กกต.พิจารณาแล้ว การที่ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นส.ว.มีบัญชีผู้ใช้งานช่องยูทูป เฟซบุ๊ก หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ  และจัดทำเนื้อหา (content) ด้วยตนเองเพื่อสื่อสารหรือเผยแพร่การวิเคราะห์ข่าวสารการเมือง เนื้อหาสร้างความบันเทิง ตลอดจนเนื้อหาอื่น ๆ เป็นกรณีที่ผู้มีบัญชีดังกล่าวนำสื่อที่มีการจัดทำโดยกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเนื้อหาสาระดังกล่าวมีการสื่อถึงประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไปแล้วมาแสดงความคิดเห็นหรือวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางข้างต้น โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งรายได้เป็นประจำหรือครั้งคราวจากบริษัทผู้ให้บริการของแอปพลิเคชันนั้น  ไม่ถือเป็นรายได้จากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ในเบื้องต้นจึงไม่ถือว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลใด ๆ อันจะเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ทั้งนี้ การตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกเป็น  ส.ว. และการตรวจสอบว่าการลงรายการในใบสมัคร ค่าธรรมเนียมการสมัคร เอกสารและหลักฐานการสมัครครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ โดยการให้ความเห็นดังกล่าวของสำนักงานฯ เป็นเพียงแนวทางประกอบการพิจารณาของผู้สมัครเท่านั้น ซึ่งผู้จะสมัครรับเลือกสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567