ผ่านพ้นมากว่า 7 เดือนแล้ว
สำหรับ สงครามในพื้นที่ฉนวนกาซา ที่กองทัพอิสราเอล สู้รบกับบรรดากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ของชาวปาเลสไตน์ เช่น กลุ่มฮามาส กลุ่มอิสลามิกจีฮัด และกองพลน้อยอัลอักซอ เป็นต้น แต่ที่นับว่าเป็นที่รู้จักติดหู ติดปาก มากกว่าใครๆ ก็คือ กลุ่มฮามาส นั่นเอง
โดยสงครามเริ่มขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ได้บุกข้ามพรมแดนฉนวนกาซา เข้าไปจู่โจมอิสราเอลอย่างสายฟ้าแลบ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และใต้ดิน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหลายร้อยคน และถูกจับเป็นตัวประกันอีกนับร้อย ก็ไม่ผิดอะไรกับจุดไฟสงครามให้ลุกโชนขึ้นในฉนวนกาซานับตั้งแต่บัดนั้น จนถึงบัดนี้ การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป นับถึงวันนี้ก็นานกว่า 7 เดือนแล้ว ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่า สงครามการสู้รบจะยุติลงเมื่อใด
แถมมิหนำซ้ำ การสู้รบก็ยังทวีสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินในฉนวนกาซาต่อไปอีกเป็นอย่างมาก โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากสงครามในฉนวนกาซาครั้งนี้ไปแล้วมากกว่า 40,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทางฝั่งของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และคาดว่าตัวเลขน่าจะมีมากกว่าที่ทางการรายงาน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนมากกว่า 80,000 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวปาเลสไตน์อีกเช่นเคย นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนนับหมื่นคน
จากพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา ลามสู่ตอนกลาง และตอนใต้ในปัจจุบัน ล่าสุด ทางการอิสราเอลก็ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ผู้คนใน “ราฟาห์” เมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เร่งอพยพออกจากบ้านเรือน ซึ่งการแจ้งเตือนในลักษณะนี้ ก็บ่งชี้ว่า กองทัพอิสราเอลจะมีปฏิบัติการโจมตีทางทหารทั้งทางอากาศและทางบกครั้งใหญ่ เหมือนกับในพื้นที่ทางตอนเหนือ และตอนกลางของฉนวนกาซา ที่ตกเป็นเป้าถล่มทางการทหารของกองทัพอิสราเอลในช่วงที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสคัดค้านการสู้รบในฉนวนกาซา รวมไปถึงการต่อต้านอิสราเอล พร้อมกับก่อให้เกิดกระแสสนับสนุนปาเลสไตน์ ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในฟากฝั่งของสหรัฐอเมริกา และในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรป เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น
ทว่า ก็หาได้ดับไฟสงครามในฉนวนกาซาได้ไม่
โดยไฟของสงครามในฉนวนกาซาที่บังเกิดนอกจากเผาชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาโดยตรง หรือแม้กระทั่งอิสราเอลที่กำลังได้เปรียบในการสู้รบดังกล่าวแล้ว ก็ยังส่งผลกระทบเป็นประการต่างๆ ทั้งต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปการเมืองในประเทศที่สนับสนุนในแต่ละฝ่ายในการทำสงครามสู้รบกันด้วย
ล่าสุด การเมืองในอังกฤษ ประเทศที่ให้การสนับสนุนต่ออิสราเอล ปรากฏว่า พรรครัฐบาล คือ พรรคอนุรักษ์นิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟปาร์ตี (Conservative Party) ได้รับผลกระทบ ในการเลือกตั้งซ่อม และเลือกตั้งท้องถิ่นที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
โดยพรรคแรงงาน หรือเลเบอร์ปาร์ตี (Labor Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน สามารถเอาชนะเหนือพรรคอนุรักษ์นิยม ทั้งในศึกเลือกตั้งซ่อม และเลือกตั้งท้องถิ่น แถมมิหนำซ้ำ ยังเป็นการชนะแบบขาดลอยกันอีกด้วย โดยบางสนามเลือกตั้ง ชนะทิ้งห่างกันเป็นประวัติการณ์กันเลยก็มี
อาทิเช่น การเลือกตั้งซ่อมที่แบล็กพูลเซาท์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ปรากฏว่า “คริส เว็บบ์” ผู้สมัครฯ จากพรรคแรงงาน คว้าชัยด้วยคะแนนที่ทิ้งห่างคู่แข่งถึงร้อยละ 26.3 จนถือเป็นชัยชนะระหว่างพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ขาดลอยมากที่สุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ก็มีสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่สร้างความฮือฮามิใช่น้อย นั่นคือ การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ที่ปรากฏว่า นายซาดิก ข่าน ผู้สมัครฯ จากพรรคแรงงาน สามารถรักษาเก้าอี้นายกเล็กแห่งกรุงลอนดอนไว้ได้เป็นสมัยที่ 3 เหนือนางซูซาน ฮอลล์ ผู้สมัครฯ จากพรรคอนุรักษ์นิยม แถมยังเป็นชนะแบบทิ้งห่างขาดลอยกันถึง 11 จุดอีกต่างหากด้วย โดยนายข่านได้คะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 43.8 ส่วนนางซูซาน ฮอลล์ ได้เพียงร้อยละ 37.7 เท่านั้น
เหตุปัจจัยที่ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอังกฤษ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินทั้งในสมรภูมิเลือกตั้งซ่อม และเลือกตั้งท้องถิ่น ครั้งล่าสุด ก็มาจากประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจต่อรัฐบาลให้การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามในฉนวนกาซานั่นเอง
ท่ามกลางกระแสการคัดค้านสงครามในอังกฤษ ที่ปรากฏว่า บรรดานักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอังกฤษ ต่อต้านสงครามดังกล่าว พร้อมกับให้การสนับสนุนต่อชาวปาเลสไตน์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งกระแสดังกล่าว ได้ลุกลามมาจากปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อนลุกลามไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ และข้ามฝั่งมายังอังกฤษและฝรั่งเศสด้วยนั่นเอง
บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า กระแสต่อต้านอิสราเอลทำสงครามในฉนวนกาซานั้น จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษ ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้าด้วยอย่างแน่นอน
ถึงขนาดอาจทำให้การเมืองเปลี่ยนข้าง ฟ้าเปลี่ยนสี ในอังกฤษ กันได้เลยทีเดียว โดยมีการคาดการณ์กันว่า หากนายเคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน สามารถเกาะกระแสต่อต้านสงครามในฉนวนกาซาไว้ได้อย่างต่อเนื่องจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า เขาก็อาจฝันที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง กรุงลอนดอน ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษได้เลย
สวนทางแตกต่างจากนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ที่นอกจากจะถูกกระแสต่อต้านสงครามดังกล่าวเล่นงานจนถึงขั้นนำพาพรรคอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นข้างต้นได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันนั้น เขาก็อาจจะเผชิญกับการ “กบฎ” ภายในพรรคอนุรักษ์นิยม จนอาจกระเด็นตกจากเก้าอี้ผู้นำพรรคฯ และเก้าอี้นายกฯ ก็เป็นได้
นอกจากที่อังกฤษแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ บรรดาพลพรรคเดโมแครตก็หนาวๆ ร้อนๆ กับกระแสต่อต้านสงครามดังกล่าว ที่อาจจะส่งผลให้แคนดิเดตของพวกเขา คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจพ่ายแพ้ให้แก่นายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ในฐานะที่ประธานาธิบดีไบเดน เป็นผู้สนับสนุนหลักของอิสราเอลในการทำสงครามฉนวนกาซา จนกลายเป็นกระแสต่อต้านทั่วแดนดินถิ่นลุงแซม ณ ชั่วโมงนี้