วันที่ 17 เม.ย.67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยได้ขอบคุณข้าราชการตำรวจทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรตลอดช่วงเทศกาล พร้มอกำชับทุกฝ่ายดูแลบริหารการจราจรให้เรียบร้อย สะดวก ปลอดภัยในการเดินทางกลับของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าในวันนี้จะยังคงมีประชาชนเดินทางอยู่เป็นจำนวนมาก ของให้ควบคุมเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า การติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น โดย 6 วันแรก ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 พบว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตของเทศกาลสงกรานต์ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และพบว่าในปีนี้ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตอาจสะท้อนถึงการประชาสัมพันธ์ที่ดี ควบคู่การเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย และประชาชนให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังคงต้องเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกการจรารให้แก่ประชาชนที่เดินทางกลับ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้
พล.ต.ท.กรไชย. กล่าวกำชับในที่ประชุม ให้หน่วยในพื้นที่ปรับแผนตามสถานการณ์ตามความเหมาะสม กับเส้นทางการเดินทางของประชาชน ทั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ด่านตรวจเสมือน และชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ โดยพิจารณาจัดกำลังสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้เหมาะสม เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด กรณีมีข้าราชการตำรวจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ต้นสังกัดและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้การช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 11-16 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 1,811 ครั้ง ลดลงร้อยละ 10.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา , ผู้เสียชีวิตสะสม 243 ราย ลดลงร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา , ผู้บาดเจ็บสะสม 1,837 คน ลดลงร้อยละ 8.42 โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถเร็ว , ดื่มแล้วขับ , ตัดหน้าระยะกระชั้นชิด ตามลำดับ / พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บ/เสียชีวิต คือ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย (ไม่สวมหมวกนิรภัย/ไม่คาดเข็มขัด) , ขับรถเร็ว , ดื่มแล้วขับ / ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยายนต์ รองลงมาคือรถกระบะ รถเก๋ง / ส่วนการจับกุมในคดีเมาแล้วขับสะสม 6 วัน รวม 20,420 ราย สถิติสูงสุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 5,315 คน รองลงมาในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 4,414 ราย