ศปถ.แถลง “5 วันอันตราย” สงกรานต์! ดับ 171 บาดเจ็บรวม 1,208 คน “กทม.” แชมป์สูญเสีย 15 ศพ มาจาก “ขับรถเร็ว-เมาแล้วขับ” ด้าน “ศปถ.” ปรับแผนรองรับการเดินทางกลับเข้าสู่ กทม. กำชับ จนท. เข้มงวดเรียกตรวจยานพาหนะ อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของ ปชช

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 เม.ย.68 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 (ศปถ.) นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ยังคงเป็นการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการดื่มแล้วขับอย่างเข้มข้นทั้งในช่วงเทศกาลและตลอดทั้งปี เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้มากที่สุด ในวันนี้เป็นวันหยุดชดเชยช่วงเทศกาลสงกรานต์วันสุดท้าย ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถค่อนข้างมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้

นายขจร กล่าวว่า ดังนั้น ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัด ปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุด ตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ตลอดจนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร

ด้านนายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 16 เม.ย. 2568 เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยประชาชนเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 ขณะที่มีการเดินทางโดยระบบรางและทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 30 และได้เพิ่มจำนวนเที่ยวการเดินทางทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางราง และทางอากาศ ควบคู่ไปกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนตลอดการเดินทาง โดยการตั้งจุดเช็ก Point ทั่วประเทศ โดยดำเนินการตรวจสอบยานพาหนะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือ และตรวจสอบผู้ขับขี่และพนักงานให้บริการ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่กินยาที่มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการหลับใน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

“ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดเน้นย้ำหน่วยงานในสังกัด ตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะให้สามารถรองรับการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครของประชาชนอย่างเพียงพอ รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารอย่างเข้มงวด รวมถึงการติดตามการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking และกล้องเลเซอร์ หากพบผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสาร และการรณรงค์งดการกระทำที่ไม่เหมาะสมบนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย” ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าว

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เมืองใหญ่ จึงขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนดูแลสภาพร่างกายของตนเองให้มีความพร้อมในการขับขี่ และตรวจเช็กสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่าง ๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกคนเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จะมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน ทำให้สภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 15 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่ห้าการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำ วันที่ 15 เม.ย. 2568 เกิดอุบัติเหตุ 214 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 209 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.92 ดื่มแล้วขับ 31.31 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.32 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 87.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.45 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.18 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 14.95 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 22.90 เวลา 15.01-18.00 น. ร้อยละ 20.56 และเวลา 00.01-03.00 น. ร้อยละ 13.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.34 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,764 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,039 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก (3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11-15 เม.ย. 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,216 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,208 คน ผู้เสียชีวิต รวม 171 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (47 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย).

ด้าน นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเน้นย้ำมาตรการดูแลความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตลอดช่วงการเดินทางในวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยกำชับให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ จากข้อมูลการเดินรถพบว่า มีผู้โดยสารเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เที่ยวไป จำนวน 33,170 คน เที่ยวกลับ จำนวน 56,362 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 89,532 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส. และรถร่วมฯ) เที่ยวไป จำนวน 2,789 เที่ยว เที่ยวกลับ จำนวน 3,107 เที่ยว รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,896 เที่ยว

นายอนุกูล กล่าวว่า ในช่วงวันเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 –17 เมษายน 2568 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยวันละ 100,000 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส. และรถร่วมฯ) ประมาณวันละ 4,800 เที่ยว โดย บขส. ได้กำชับให้นายสถานีเดินรถทั่วประเทศ เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางในเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพฯ จัดรถโดยสารและพนักงานขับรถให้เพียงพอพร้อมบริการประชาชน พร้อมเน้นย้ำ พนักงานขับรถของ บขส. และรถร่วมฯ ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บริการผู้โดยสารเดินทางถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

ในส่วนของการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ รถโดยสารของ บขส. ทุกคันจะจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตู 3 เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีแดง รถเมล์ และแท็กซี่ ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับ ขสมก. จัดรถเมล์ให้บริการภายในสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 รวม 15 เส้นทาง และจัดรถ Shuttle Bus เชื่อมต่อระหว่างหมอชิต 2 กับ BTS หมอชิต และ MRT สวนจตุจักร ให้บริการตั้งแต่ 04.00 – 22.00 น. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการแท็กซี่เข้าจอดรับผู้โดยสารในจุดที่กำหนด เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และเป็นระเบียบเรียบร้อย

ทั้งนี้รัฐบาลกำชับให้ทุกหน่วยงานด้านคมนาคมและขนส่งสาธารณะ พร้อมบริการประชาชน โดยยึดความปลอดภัยและความสะดวกเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการมาใช้บริการ ทั้งนี้  บขส. ได้บูรณาการความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตรวจความพร้อมของรถโดยสารและพนักงานขับรถทุกเที่ยว ทั้งผ่านการ Checklist และจุดตรวจ (Checking Point) โดยเฉพาะอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน พร้อมตรวจสารเสพติดและวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งต้องมีค่าเป็นศูนย์ และกำหนดให้รถโดยสารใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ต้องจัดพนักงานขับรถ 2 คน สำหรับเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางเกิน 4 ชั่วโมง พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาให้ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ