“นิกร“ ย้อน ”ไอติม” หลังถูกพาดพิงกลางสภา ปม หน้าที่อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น แนะ เป็นนักการเมืองที่ดี ต้องฟังประชาชน
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวว่า ตนขอใช้สิทธิชี้แจงนอกสภาภายหลังถูกพาดพิงในสภาจากกรณีที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีกล่าวหาว่า การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯทำงานที่ไม่ควรทำจากการที่ไปสอบถามประชาชนว่ามีปัญหาอะไร แทนที่จะถามว่ารัฐธรรมนูญจะลงคะแนนอย่างไร ขอเรียนว่าการไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้นเนื่องจากมีหลายคนก็สะท้อนว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญทำไม ดังนั้นการที่เราไปถามคือถามว่าประชาชนมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีคำถามหลายมิติ เช่นประชาชนมีปัญหาด้านสิทธิและเสรีภาพตามที่เขารู้สึกอย่างไรในแต่ละพื้นที่ สะท้อนความเป็นอยู่ สะท้อนการทำมาหากิน เรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งตนเห็นว่าเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองไม่ว่าจะอยู่ในสภาหรืออยู่นอกสภาที่จะต้องทำ เพื่อประชาชน เพราะเรามานั่งเทียนเขียนตามความเห็นเราเองไม่ได้เราจึงต้องไปรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ให้กับคณะรัฐมนตรี ว่าประชาชนมีความเห็นเรื่องเหล่านี้อย่างไรต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ มิใช่ไปกระทำการนอกหน้าที่
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีกล่าวหาว่าตนสอดไส้ร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสสร.ว่า ทั้งที่จริงแล้วเป็นการ ตั้งตุ๊กตาในการนำเสนอ เพราะตนเองมีประสบการณ์ในฐานะที่ตนเคยทำงานร่วมกับนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยุคนั้นมี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) สามารถทำรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่าเป็นฉบับประชาชนที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาแล้ว ดังนั้นตนจึงเสนอปรับปรุงใหม่เพิ่มเติมจากสสร.ที่การทำรัฐธรรมนูญที่ประสบความสำเร็จโดยส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจาก 76 จังหวัด เป็นปรับปรุงใหม่ตามตุ๊กตาที่เสนอไปนั้นก็เพื่อให้ความเห็น ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 77 จังหวัด นักวิชาการ เลือกกันมาเพื่อให้สภาเลือกอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเปราะบาง ที่มาจากสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็เห็นว่าน่าจะได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และกรรมาธิการของนายพริษฐ์ ก็เคยเชิญตนไปให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องส.ส.ร. ตนก็ได้ฟังความเห็นของนายพริษฐ์ ซึ่งมีหลายอย่างเกี่ยวกับส.ส.ร. ซึ่งเราก็รับฟัง ซึ่งนี่เป็นความเห็นเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ของเราก็ควรจะรับฟังเช่นกัน ซึ่งในที่สุดก็ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการว่าจะเอาอย่างไรกัน มิใช่ตามที่นายพริษฐ์เห็นหรือตนเองเห็น
”ดังนั้นคุณพริษฐ์เองก็เสนอความคิดเห็นมาได้ แต่เมื่อมีความเห็นคนอื่น คุณพริษฐ์ ก็ต้องมองว่าเป็นความเห็นที่ต้องรับฟังเช่นกัน เราเป็นนักการเมือง เราอยากให้คนอื่นฟังเรา เราก็ต้องฟังคนอื่นบ้าง ผมจะบอกว่าในฐานของคุณพริษฐ์นั้นไม่รู้สำเร็จหรือไม่ แต่ของผมพัฒนามาจากที่สำเร็จแล้ว เป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้ว ผมก็มีน้ำหนักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นควรจะรับฟังคนอื่นด้วย ไม่ว่าในสภาหรือนอกสภาเราก็เป็นนักการเมืองของประชาชนเหมือนกัน มีศักดิ์และสิทธิ มีความรับผิดชอบต่อประชาชนเหมือนกัน ต้องฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้นบ้าง“ นายนิกร กล่าว