วันที่ 3 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปราย การบริหารงานของรัฐบาลผสมนายเศรษฐา ทวีสิน ว่า อาจมีปัญหาเรื่องการนำนโยบายหาเสียงไปปฏิบัติ เห็นได้จากนโยบายพรรคเพื่อไทยจำนวนมากไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา หรือมีสาระสำคัญผิดเพี้ยนไปจากคราวหาเสียง ประกอบรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นในการจัดทำงบประมาณปี 2567 และการเบิกจ่ายงบฯ ที่ล่าช้าไปหลายเดือน โดยนายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า แม้รัฐบาลจะมีข้อจำกัด แต่ไม่สามารถปฏิเสธความล้มเหลวในการบริหารงานได้อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การจัดทำ “นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เติมเงินให้ประชาชน 10,000 บาท” และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

สำหรับ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เติมเงินให้ประชาชน 10,000 บาท เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามที่หาเสียงไว้ พร้อมเห็นว่า ประเด็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลแถลงว่าจำเป็นต้องเติมเงินในระบบนั้น ก็เป็นเพียงวาทกรรมที่แต่งขึ้นมา 

ด้านภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นายสรรเพชญ เห็นว่า รัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ค่าครองชีพ กระทั่ง มาตรการพักหนี้ ล้วนเป็นเพียงมาตรการเฉพาะซึ่งผ่านมาแล้ว 6 เดือน กลับไม่เห็นมาตรการต่อยอดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยนายสรรเพชญ ยกตัวเลขการประเมินหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีมากถึง 16.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.9% ของ GDP ว่าสะท้อนว่ามาตรการระยะสั้นของรัฐบาลไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น พร้อมเปรียบเปรยว่า พักหนี้ไปอีก 10 ปี ปัญหาหนี้ของชาวบ้านมันก็ไม่หมด มันก็บอกอยู่แล้วว่า แค่พักหนี้

นายสรรเพชญ ได้กล่าวติงนายเศรษฐา  เรื่องการนำโครงการ แลนด์บริดจ์ (Landbridge) ไปเดินสายโรดโชว์ (Roadshow) ในต่างประเทศว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติใดๆ เป็นเพียงแนวคิดที่รอการตกผลึก ซึ่งตนเกรงว่าจะนำไปสู่การทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต ตัวอย่างพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ เช่น EEC, ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค, ตลอดจนเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน พื้นที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าว ยังต้องการเติมเต็มในหลายด้านทั้งเงินทุน นวัตกรรม และแรงงานฝีมือ 

ในตอนท้าย นายสรรเพชญ ได้กล่าวสรุปว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มีลักษณะสุกเอาเผากินเพราะไม่เข้าใจโจทย์ประเทศ และโจทย์เศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ส่งผลให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่ประสบความสำเร็จ