วันที่ 27 มี.ค.67  นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในการร่วมเสวนา ‘Road to Reform: ทิศทางประเทศไทยภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ที่จัดขึ้นโดยองค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ว่า โจทย์สำคัญของรัฐธรรมนูญคือจะต้องทำอย่างไรให้สามารถยับยั้งการรัฐประหารได้ เพื่อทำให้สังคมไทยหลุดจากวังวนการรัฐประหาร ซึ่งขณะนี้คนจำนวนมากในสังคมเห็นตรงกันว่าเราจำเป็นจะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาที่ไม่ได้ยึดโยงกับเจตจำนงของประชาชนและกลุ่มคนที่มายกร่างรัฐธรรมนูญเองก็มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับภาคประชาชนเช่นกัน 

“ถ้าเราได้คนที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาจากประชาชนเป็นผู้เลือก และมีกระบวนที่ประชาชนเป็นผู้ลงประชามติ โดยมีการเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทุกคนได้ออกมาใช้สิทธิของตัวเอง ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคม ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการยกร่างขึ้นมาใหม่นี้จะต้องจะมีทั้งที่มาและเนื้อหาที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับและสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นได้” นายชนินทร์ กล่าว



นายชนินทร์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่กำลังเกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. บางคนมองว่าควรจะแก้ไขเฉพาะบางมาตรา ขณะที่บางส่วนอยากให้มีการยกร่างใหม่ทั้งหมด และบางกลุ่มไม่อยากให้มีการแก้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมได้ หากไม่สามารถหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ อีกทั้งกลไกของรัฐธรรมนูญวางไว้ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก โดยเฉพาะการนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่เปิดช่องให้ทำได้เลย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สส. และ สว. มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัตินี้ได้เลยหรือไม่ หรือจะต้องทำประชามติก่อน เพื่อให้ได้รับการยืนยันถึงกระบวนการที่ชัดเจน และไม่เกิดการตีความไปในทางที่ผิดแล้วเป็นช่องว่างทำให้เกิดการล้มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนในอนาคต

นายชนินทร์ กล่าวว่า หากเมื่อยื่นถามไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำประชามติครั้งแรกได้ จะทำให้การทำประชามติเหลือเพียงแค่ 2 ครั้ง ประหยัดงบประมาณประเทศ ได้มากถึง 3,000 - 4,000 ล้านบาท และลดโอกาสในการเกิดปัญหาการไม่ผ่านจากความเบื่อหน่ายของประชาชนกับกระบวนการที่เยินเย้อเกินความจำเป็น เนื่องจาก พ.ร.บ. ประชามติ ฉบับปัจจุบันก็มีการล็อกไว้หลายชั้นด้วย เช่น การระบุเอาไว้ว่าการเห็นชอบนั้นจะต้องมีเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมดมาร่วมออกเสียง ไม่ใช่เพียงเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง

“สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่นี้ คือการสร้างความชัดเจนในเชิงกระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องหาหนทางให้เกิดการวินิจฉัยที่ชัดเจน และให้จบเป็นบรรทัดฐานเดียวกันว่าจะต้องทำประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้งจะได้ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ซ้ำอีก เพราะเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ คือจะต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งการยื่นญัตติด่วนให้พิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาในวันศุกร์นี้ ก็จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เคลื่อนไปข้างหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยอมรับได้ในสังคม” นายชนินทร์ กล่าว