วันที่ 15 มี.ค.67 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก "Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์" ระบุว่า...

“จตุพร”อ่านเกมทักษิณเยื่อนบ้านเกิดเชียงใหม่ ภาพฟ้องชัดศรัทธาถดถอย คนต้อนรับหร็อมแหร็ม เชื่อฟื้นคะแนนนิยมเพื่อไทยไม่ขึ้น หวั่นเสียงเชียร์ดันอยากกลับการเมือง ย้อนทวนขัดแย้งทำลายสังคม ชี้ภาษากายสะท้อนผู้นำรัฐบาลตัวจริง ส่วน “เศรษฐา”แค่รับบทนายกฯ เซลล์แมน

เมื่อ 14 มี.ค. 2567 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า ปรากฎการณ์ทักษิณ ชินวัตร เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช โดยใส่สูท สวมแมสก์ปิดปาก ปิดจมูก ไม่ใส่ปลอกคอเฝือกอ่อน แขนไม่มีสายพยุงไว้เหมือนตอนออกจาก รพ.ตำรวจเมื่อ 18 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น สังคมมองด้วยความไม่สบายใจ เพราะทุกเรื่องไม่ได้ปฏิบัติตามทำนองคลองธรรมของกระบวนการทางกฎหมายเท่าเทียมกัน

อีกทั้งกล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณตี 4-5 ของวันที่ 14 มี.ค. ทักษิณ ไปไหว้ศาลหลักเมืองกลับสวมปลอกคอเฝือกอ่อน แสดงอาการกลับไปกลับมาอยากมีปลอกและใส่เฝือกอ่อนที่คอบ้าง ภาษากายเช่นนี้คงสะสมความรู้สึกมึนงงของสังคมมากขึ้นตามลำดับ แล้วใส่ปลอกคอเดินทางไปเชียงใหม่เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน

นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อทักษิณจากบ้านไปนาน 17 ปี การกลับมาถ้าได้ติดคุกสักวันตามประสานักโทษคดีทุจริตแล้ว คนย่อมยินดีปรีดิ์เปรม แต่ที่สังเกตเหตุเห็นกลับมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน อ้างป่วย ไม่ยอมติดคุกแม้วันเดียว ทำให้กลไกรัฐถูกกระทบกระเทือนและกระบวนการยุติธรรมต้องยับเยินกับการบังคับใช้ไม่เท่าเทียม

นอกจากนี้สิ่งที่คาดหวังไว้คือ อารมณ์สังคมจะเต็มไปด้วยการต้อนรับทักษิณที่เชียงใหม่ แต่เมื่อตั้งรัฐบาลบตระบัดสัตย์รอบวงแล้ว สิ่งที่เห็นกลับมีแต่กองทัพสื่อมวลชนรอต้อนรับเพื่อทำข่าวบันทึกภาพเท่านั้น ส่วนคนเสื้อแดงถือว่า มาต้อนรับน้อยมากที่สุด

“สะท้อนว่า ความศรัทธาไม่ได้ผูกขาดไว้กับใคร แต่ความศรัทธาจะสิ้นศรัทธาเมื่อเกิดวิกฤตศรัทธา เพราะความเชื่อได้ถูกทำลายไปหมดสิ้น ดังนั้นสิ่งที่เห็นชัดเจนจากภาพต้อนรับทักษิณที่เชียงใหม่ แสดงถึงอารมณ์ประชาชนได้ถดถอยอย่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นเพราะจุดยืนทางการเมืองเสียหาย”

ส่วนทักษิณไปเชียงใหม่จะกู้ความนิยมพรรคเพื่อไทยกลับมาได้หรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ถ้าอารมณ์ประชาชนมีการตื่นตัวชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับมีแต่ความถดถอย ดังนั้น ในทางการเมืองและความรู้สึกกับการดีลกลับบ้าน เพื่อไทยตั้งรัฐบาล สกัดพรรคก้าวไกลเติบโต จึงแลกด้วยความสูญสิ้นศรัทธากันยับเยิน

นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว ถ้าไม่ยอมให้นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากนายกฯ คงจะได้เห็นแรงกระแทกอย่างรุนแรงกลับคืนจากการอภิปรายทั่วไปของ สว.ในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งคงต้องติดตามกัน แต่การนัดแถลงผลงานไปต่างประเทศในวันที่ 26 มี.ค. คงเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะสามารถแถลงก่อนการอภิปรายของ สว.ก็ได้

"ถ้าหลายคนคาดหวัง ว่า ทักษิณ กลับมาจะขับเคลื่อนการเมืองนั้น ยิ่งทำให้นายเศรษฐา อยู่ลำบากที่สุด เพราะไม่เป็นไปตามคำอ้างขอกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ดังนั้น หากเข้าไปเกี่ยวข้องเชิงอำนาจการเมือง ขืนทำตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาลของรัฐมนตรีที่ต้องลาราชการมาตรวจงาน เมื่อไปจังหวัดอื่นเช่นนี้มากเข้าก็จะเริ่มหลงเสียง จะทำความขัดแย้งให้กลับมาอีก ซึ่งยากหลีกเลี่ยงได้”

นายจตุพร คาดว่า นับจากนี้ไปสถานการณ์ทางการเมืองยิ่งจะมีเรื่องราวให้ติดตามกันอย่างยุบยับเต็มไปหมด เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวที่มีความสะสมอารมณ์และข้อตกลงดีลกันไว้ หากเบี้ยวคงถูกงัดออกมาเล่นงานพรรคเพื่อไทยในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งจะเร็วจะช้าอยู่ที่ปฏิบัติการณ์จากดีลนำพา ส่วนยุบพรรคก้าวไกลคงทยอยถูกเล่นงานกันเร็วกว่าการยุบเพื่อไทยที่อำนาจสั่งเก็บปัญหาแช่แข็งไว้ก่อน

"ยิ่งใกล้วัน สว.หมดอายุวันที่ 11 พ.ค. แต่ยังทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามา เมื่อ สว.จะหมดอายุยิ่งเป็นเงื่อนไขนำสู่แรงกดดันทุกฝ่าย หลังจากนั้น ยิ่ง สว.ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ สภาพการร่วมรัฐบาลจะยิ่งยับเยินเพื่อจับมือตั้งรัฐบาลกันใหม่อีก และสุดท้ายเพื่อไทยจะอ้างเอาดีถึงการดีลว่า เป็นทางรอดทางเดียวที่ยอมข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาล"

ประเทศไทยต้องมาก่อน