“มนัญญา” ลุยเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีฯ ภาคเหนือ หวังสร้างพลังสตรีให้เข้มแข็ง เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมย้ำ เงินมีพลังก็จริง แต่พลังของสตรีมีมากกว่า
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมธาราฮิลล์ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ชาดา ไทยเศรษฐ์) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค” รุ่นที่ 2 ภาคเหนือ พร้อมมอบนโยบาย หัวข้อ “พลังสตรีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สู่ความอุดมพูนสุข” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2567 โดยมี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน
สำหรับวัตถุประสงค์ การดำเนินการประชุม เพื่อส่งเสริมความรู้ให้คณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค สามารถขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ วิธีการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ภาคเหนือ (17 จังหวัด) และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีร่วมงานกว่า 100 คน
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นสตรี เพราะพลังของสตรี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ พร้อมผลักดันการทำงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คณะกรรมการพัฒนาสตรี รวมทั้งอยากเห็นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือน ให้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมเสริมสร้างอาชีพ ให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพ OTOP ของกลุ่มสตรี ให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม
นางสาวมนัญญา ระบุว่า “เราต้องอย่าใช้เงินเป็นตัวตั้ง เงินมีพลังก็จริงแต่พลังของสตรีมีมากกว่า” รวมพลัง สร้างพลังสตรีให้เข้มแข็ง รวมพลังกองทุนฯ ช่วยกันปลดหนี้ ซึ่งท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมการพัฒนาชุมชน ต้องการให้สตรีทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพของตนเอง โดยเฉพาะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะช่วยนำไปเสริมสร้าง และพัฒนาอาชีพทำได้หลากหลายมิติมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือสตรีในทุกพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ นำไปพัฒนาอาชีพ พัฒนารายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้มีความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชน
นอกจากนี้บรรยากาศภายในงาน ยังมีการจัดนิทรรศการ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 15 กลุ่ม ที่เกิดจากการใช้เงินทุนหมุนเวียน (เงินกู้) ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.