ไฟป่าเมืองสามหมอกยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุดพบจุดไฟป่าช่วงเช้าถึง 529 จุด นับเป็นจุดไฟป่าที่สูงที่สุดของภาคเหนือ และสูงต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ค่าหมอกควันพิษสูงถึง 424 มคก./ลบ.ม.ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันคืน
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่วนหน้า ( ภาคเหนือ ) รายงานข้อมูล hotspot จากดาวเทียม Suomi NPP (ระบบ VIIRS) 17 จังหวัดภาคเหนือ วันที่ 13 มีนาคม 2567 รอบเช้า Hotspot วันที่ 13 มี.ค. 67 เวลา 02.00 น.โดยพบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการตรวจพบจุดไฟป่ามากที่สุดของภาคเหนือ คือ พบจุดความร้อนจำนวน 529 จุด ส่วนจุดความร้อนประจำวันที่ 12 มีนาคม 2567 (เมื่อวานนี้) จำนวน 674 จุด จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 มีนาคม 2567 จำนวน 3,711 จุด สูงสุดที่อำเภอปาย จำนวน 1,002 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2,273 จุด
ทั้งนี้พบว่า บริเวณสองข้างทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่ฮ่องสอน – อ.แม่สะเรียง มีไฟป่าเกิดขึ้นสองข้างทางหลวงเป็นแนวยาวต่อเนื่อง นอกจากนั้น บางจุดได้มีการเข้าไปดับไฟป่าแล้ว แต่ยังมีไฟสุมขอน คือ ขอนไม้เศษไม้ในป่าบริเวณสองข้างทางหลวง ยังคงติดไฟ และส่งผลให้เกิดควันไฟลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างหนักในระยะนี้ ดูเหมือนว่าการรณรงค์แก้ไขปัญหาไฟป่าของภาครัฐไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก และราษฎรส่วนใหญ่มองเรื่องผลเก็บเกี่ยวจากป่าในช่วงต้นฤดูฝนที่มีเห็ดเผาะ และเห็ดอื่น ๆ นานาชนิด ที่ยังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปอย่างมาก ถึงแม้ราคาเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะออกใหม่จะมีราคาสูงเพียงใด ก็ยังมีคนนิยมซื้อกิน ทำให้การรณรงค์จึงไม่ค่อยได้ผลและตรงจุด
แต่ที่น่าสนใจคือ ปัญหาหมอกควันจะไม่ค่อยกระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากนัก ยอดผู้ป่วยก็เป็นยอดเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทางแพทย์ในพื้นที่ระบุว่า อาจจะเป็นเพราะคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแต่เด็ก เพราะดมควันมาตลอด ร่างกายจึงปรับสมดุลได้เอง และที่พบว่ามีคนได้รับผลกระทบจากควันส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นเป็นส่วนมาก ด้วยการที่คนในพื้นที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบโดยตรงจากฝุ่นพิษ น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่จึงไม่ค่อยเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ส่วนใหญ่จะรณรงค์เรื่องผลกระทบต่อต้นไม้ในป่าเมื่อถูกไฟไหม้ ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีไฟป่าเป็นประจำ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้ในป่าก็งอกงามกว่าเดิม ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อว่าไฟป่าจะกระทบต่อต้นไม้ ส่วนในเรื่อง กระทบต่อสุขภาพร่างกาย ในเมื่อไม่มีคนป่วยหนักให้เห็นเป็นตัวอย่าง คนก็ไม่ค่อยเกรงกลัว ยกตัวอย่าง ชาวชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นที่ จะมีวิถีชีวิตสร้างบ้านคล่อมดินแบบปิด และมีการก่อเตาไฟกลางบ้าน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็จะต้องมีการสูดดมควันไฟเข้าไปตลอดเวลา แต่กลับไม่พบการเจ็บป่วยหรือมีอาการหนักจากโรคทางเดินหายใจแต่อย่างใด