สถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงมีการลอบเผาป่าอย่างหนัก โดยดาวเทียมตรวจจับความร้อน พบจุด ฮอทสปอต จำนวน 58 จุด สูงสุดของภาคเหนือขณะที่ ค่าฝุ่นพิษยังคงสูงเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ ว่า จุดความร้อนช่วงเช้า ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2567 ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจุดความร้อนขึ้น 58 จุด ได้แก่ อ.แม่ลาน้อย 1 จุด อ.แม่สะเรียง 23 จุด อ.สบเมย 34 จุด ค่าฝุ่นละออง 45.2 มคก./ลบ.ม. ทัศนวิสัย 8 กม. ( 07.00 น.)

ก่อนหน้านั้น ( 22 มี.ค.67 ) เวลา 10.00น. นายเกษม คำมา ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่   สาขาแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟนครศรีธรรมราช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเพชรบุรี, เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟแม่ฮ่องสอน, หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ที่ มส.2 (แม่ฮ่องสอน) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.8 (ม่อนตะแลง) เข้าตรวจสอบพื้นที่หลังได้รับแจ้งจากกรมพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ว่าพบเหตุไฟไหม้ในเขตป่าแม่ปายฝั่งขวา ท้องที่บ้านปางหมู หมู่ที่ 3 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พิกัด 47Q 391567 2136829 จึงได้เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู โดยเวลา 14.00 น. สามารถควบคุมไฟไว้ได้ทั้งหมด
           ต่อมา เวลา 14.30น. เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ที่ มส.2 (แม่ฮ่องสอน) ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟไหม้ป่าบริเวณ หมู่ที่ 11 (บ้านกุงตึง) ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พิกัด 47Q 390082 2134769 โดยสามารถควบคุมไฟไว้ได้ทั้งหมด เวลา 17.00น. จากการตรวจสอบพื้นที่เสียหายรวม 20 ไร่ โดยไฟป่าทั้งสองจุดที่เกิดขึ้น ดาวเทียมไม่สามารถตรวจจับความร้อนได้แต่อย่างใด

สำหรับไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 22 มีนาคม 2567 มีจุดความร้อนรวมทั้งสิ้น จำนวน 6,168 จุด สูงสุดที่อำเภอปาย จำนวน 1,454 จุด โดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 3,590 จุด

จากสถานการณ์ไฟป่าที่โหมกระหน่ำมาตั้งแต่ ต้นปีนี้ ส่งผลให้มีไฟป่าเกิดขึ้นอย่างหนักและทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีค่าสูงอย่างต่อเนื่องมาแล้ว  35 วัน ส่งผลให้มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลทุกแห่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่สายการบินก็ยกเลิกเที่ยวบินจากกรุงเทพมาแม่ฮ่องสอน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง 

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการดับไฟป่า ระบุว่า ในห้วงตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เป็นต้นมา ทางราชการได้มีแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ไฟป่าได้เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้ต้องยกเลิกการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ไฟป่าทุเลาลงได้แต่อย่างใด กลับมีการลอบเผาป่ามากผิดปกติเหมือนท้าทายอำนาจรัฐ หน่วยดับไฟป่าทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน หรือ กรมป่าไม้ หน่วยควบคุมไฟป่า และหน่วยระดับอำเภอรวมไปถึงราษฎร ได้ร่วมกันเข้าดับไฟป่าไม่หยุดหย่อนแทบจะ 24 ชั่วโมง แต่ก็ไม่สามารถสู้กับไฟป่าที่เกิดบนเทือกเขาสูงชันได้ จำเป็นต้องปล่อยให้ไฟป่าลุกลามจนมอดดับไปเอง โดยสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการตัดงบประมาณแก้ไขปัญหาไฟป่าระดับหมู่ลง ทำให้ภาครัฐขาดความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่