"ฝ่ายค้าน" มีมติยื่นญัตติ "ปธ.สภาฯ" 13 มี.ค. ซักฟอกรัฐบาล ม.152 ข้อหาเลือกปฏิบัติกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศไร้จริยธรรม ไร้ความสามารถ ด้าน'จุรินทร์' เตือนยิ่งลักษณ์ใช้ 'ทักษิณโมเดล'กลับบ้าน อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ก่อวิกฤตซ้ำรอย นิรโทษกรรมสุดซอย วอนอย่าทำลายกระบวนการยุติธรรม กลับมาต้องรับโทษ ปปช.รอคำพิพากษาฉบับเต็มคดีโรดโชว์ปู ก่อนตัดสินใจอุทธรณ์หรือไม่ เผยอดีตนายกฯมีคดีค้างอีก 1 คดี อยู่ในชั้นอนุไต่สวน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มี.ค.67 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ,นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ,นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย และนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ได้มีการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ และจะอภิปรายในรูปแบบใด
ต่อมา นายชัยธวัช เปิดเผยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งจากนี้จะประสานงานไปยัง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเข้ายื่นญัตติอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 13 มี.ค.นี้ โดยกรอบการอภิปรายเบื้องต้นฝ่ายค้านจะขอเวลาอภิปรายอย่างน้อย 2 วัน เมื่อดูปฏิทินวาระการทำงานในสภาฯ คาดว่าเวลาที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงหลังอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณวาระ2-3 เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นทราบว่าในวันที่ 27-28 มี.ค. ดังนั้น เวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันที่ 3-5 เม.ย. ก่อนที่สภาฯจะปิดสมัยประชุม
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้รวบรวมข้อมูลแต่ละพรรคจะมีประเด็นตอนนี้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ 6 เดือนแล้วแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตัวเอง ไม่มีการขับเคลื่อนนโนบาย และแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนให้เป็นรูปธรรม ปล่อยประละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งในและนอกประเทศเอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการมีการรับผลประโยชน์ รีดนาทาเร้นประชาชน หลักนิติธรรมถูกทำลาด้วยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ และไร้วุฒิภาวะ
นายชัยธวัช กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้คือไม่ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน แม้ในความเป็นจริงการบริหารยังไม่ได้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม และยังไม่ผ่านสภาฯ ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณการทุจริตคอรัปชั่นจึงอาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ดังนั้นการอภิปรายจะไม่เลื่อนลอย ต้องมีหลักฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นประเด็นหลักในการอภิปรายมีหลายเรื่อง ทั้งหลักนิติรัฐ นิติธรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของนายทักษิณ แต่ประเด็นหลักคือการเพิกเฉยต่อการดำเนินนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และการบริหารราชการแผ่นดินในหลายเรื่องที่มีลักษณะไร้จริยธรรม ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ผลงานที่จับต้องได้ หลังจากนี้จะประสานกับทุกพรรคเพื่อรวบรวมประเด็นเพื่อนำมาจัดคนอภิปรายให้เหมาะสม ยืนยันไม่มีเกี๊ยเซียะกับรัฐบาลแน่นนอน ยึดการกระทำของรัฐบาลเป็นหลัก เดิมจะจัดปลายเดือนนี้ คาดว่างบฯจะเข้ากลางเดือนมี.ค.
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทย และอาจจะมีการใช้วิธีพิเศษ เพื่อไม่ต้องถูกจำคุก ว่า ความจริงไม่ได้มีใครห้ามน.ส.ยิ่งลักษณ์กลับประเทศ สามารถกลับได้อยู่แล้ว แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ที่ไม่กลับเป็นเพราะหนีคดี ไม่ใช่เพราะไม่ให้กลับหรือประเทศไทยไม่ให้กลับ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่การทำอะไรหากไม่ถูกต้อง ก็ต้องเกรงใจประชาชนบ้าง เพราะหลักกฎหมายบ้านเมืองยังมีอยู่ ถูกผิดก็ต้องรับผิด ถูกก็ต้องรับถูก มีอยู่สำหรับประเทศของเรา จะมาทำลายเหยียบย่ำทั้งหมด ตนคิดว่าวันหนึ่งจะย้อนกลับมา จึงขอฝากเตือนไว้ ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีอะไรอคติทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์หลุดจากหลายคดี ตรงนี้เป็นการปูทางกลับสู่ประเทศไทยหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าจะกลับก็ไม่ต้องปูทาง เพราะกลับได้อยู่แล้ว แต่คดีที่ยังค้างคาอยู่และโทษที่ศาลยุติธรรมตัดสินไว้ก็ยังอยู่ ก็ต้องว่าไปตามนั้น จะเป็นการดีที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศและอนาคตของทุกฝ่าย รวมถึงอนาคตของน.ส.ยิ่งลักษณ์เองด้วย เมื่อถามย้ำว่า หากกลับมาจะใช้ ทักษิณโมเดลได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าอย่าไปทำลายกระบวนการยุติธรรมอีกเลย เดี๋ยวจะกลายเป็น ฟางเส้นสุดท้าย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกมากและจับตาดูอยู่ อย่าคิดว่าประชาชนไม่พูดแล้ว ไม่รู้สึกหรือเขาไม่เจ็บปวด
บ้านเมืองจะอยู่ได้ก็โดยหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเหมือนที่นายกรัฐมนตรีพูด แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ทำ บ้านเมืองจะอยู่ได้ถูกก็ต้องเป็นถูก ผิดก็ต้องเป็นผิด ถ้าทำผิดเป็นถูกแล้วจะอยู่กันอย่างไร เพราะจะเท่ากับเป็นการส่งเสริมการทำผิด แล้วประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและช่วยกันสร้าง ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์เองก็ต้องช่วยสร้างด้วย นายจุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์กันว่าเงื่อนไขของน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เหมือนกับนายทักษิณ ชินวัตร และไม่เข้าเงื่อนไขกรมราชทัณฑ์ อาจมีการใช้แนวทางอื่นช่วยเหลือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าทุจริตก็เข้าข่ายกระทำความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 หากปล่อยปะละเลยให้มีการทุจริต หรือหรี่ตาข้างหนึ่งให้ทุจริตก็เข้าข่าย มาตรา 157 ซึ่งไม่แตกต่างกัน ส่วนจะมีใครต้องรับผิดชอบบ้างนั้นตนคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนก็ไม่เคยวิจารณ์นอกเหนือจากรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่รู้เห็นเป็นใจ ซึ่งทั้งหมดต้องนับหนึ่งที่รัฐบาล ส่วนกรณีการเอื้อให้นายทักษิณไม่ต้องเข้าเรือนจำ จะเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ หรือไม่ ตรงนี้ขอรอมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน จึงจะตัดสินใจว่าเดินไปทางไหน
เมื่อถามย้ำว่า มีรายงานว่ามีการดีลหรือประสานกันมา เพื่อปูทางให้ 2 พี่น้อง กลับมาตั้งแต่แรก นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ตนมองปรากฏการณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รักความยุติธรรม เช่นเดียวกับคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย ตนเชื่อว่าอยากเห็นถูกเป็นถูก อยากเห็นผิดเป็นผิด เพราะเราเคยออกกฎหมายล้างผิด แล้วสุดท้ายบ้านเมืองเสียหายยับเยินมาแล้วตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉุกเฉิน เราอย่าทำให้ซ้ำรอยอีก ตรงนี้คือหัวใจสำคัญ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ คดีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์คือการทุจริตรูปแบบหนึ่ง มีเนื้อหาดังนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ คงเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ในความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า "คิดว่าปัญหาน.ส.ยิ่งลักษณ์เบาที่สุด เพราะเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องจำนำข้าว ซึ่งต้องรอการพิสูจน์อีกหลายอย่าง และไม่ใช่เรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทุจริต แต่เป็นเรื่องที่โดนกฎหมายอาญามาตรา 157"
ผมไม่คิดว่าคนระดับนายภูมิธรรม จะแยกแยะไม่ได้ในคดียิ่งลักษณ์ และพูดหน้าตาเฉยว่าคดียิ่งลักษณ์ไม่ใช่คดีทุจริต ผมอยากบอกว่า คดียิ่งลักษณ์นั้น คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แค่นี้คุณยังไม่เข้าใจเลย อนาคตจะฝากอะไรกับคุณได้ เพื่อให้นายภูมิธรรมเข้าใจง่ายขึ้นว่าคดียิ่งลักษณ์ละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอย่างไร ผมขอสรุปคำพิพากษามาให้อ่านครับ
"ในส่วนการระบายข้าว ที่แอบอ้างว่า เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐก็เช่นเดียวกัน จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล และประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ในการกำกับดูแล การระงับยับยั้ง หรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่จำเลยกลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาออกโดยแจ้งชัดอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายบุญทรง (เตริยาภิรมย์) กับพวกแสวงผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัท GSSG และ บริษัท Hainan grain เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาต่ำกว่าท้องตลาดตามประกาศของกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย "
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 123/1 หลังจากอ่านแล้ว วันหลังนายภูมิธรรมจะได้ เข้าคดีความผิดยิ่งลักษณ์มากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ท่องว่าไม่ได้ทุจริต
ด้าน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ภายหลังยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจ้างเอกชนมาทำโครงการโรดโชว์ 240 ล้านบาท ว่า ตามกฎหมายแล้วมีระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ ขณะนี้ต้องรอดูคำพิพากษาตัวเต็มจากทางศาลฎีกาก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยจะมาดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ศาลยกฟ้อง เท่าที่ทราบจากข่าวมีอยู่หลายประเด็นพอสมควร และดูว่าประเด็นดังกล่าวเรายอมรับได้หรือไม่ จากนั้นจะนำมาพิจารณาวินิจฉัยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง โดยตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
"สำหรับคดีที่มีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใน ป.ป.ช. เบื้องต้นขณะนี้เหลือเพียงคดีเดียว คือกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเอกชน โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน" นายนิวัติไชย กล่าว